นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างการเตรียมขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาและประมูลรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff Bidding (FiT-biding) ซึ่งจะเป็นวิธีใหม่ในการประเมินและคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 58-59 (ไม่รวมแสงอาทิตย์) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 14 พ.ค.58 เชื่อว่ารูปแบบ FiT bidding จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานจากชีวมวล ชีวภาพ พลังน้ำ และพลังงานลม ทั้งนี้ ขบวนการ Fit bidding จะประเมินพื้นที่หรือโซนนิ่ง จากศักยภาพของเชื้อเพลิงและระบบสายส่งที่รองรับโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบได้ ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯกำลังดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปศักยภาพของเชื้อเพลิงที่สอดคล้องกับระบบสายส่งในแต่ละพื้นที่ได้ใน มิ.ย.-ก.ค.นี้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะนำผลการจัดทำโซนนิ่งนี้ไปกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อการพิจารณาประกอบการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ประกอบการแต่ละรายต่อไป “หัวใจของ
ระบบ FiT bidding ที่จะนำมาใช้กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกคือความพร้อมของวัตถุดิบและระบบสายส่งแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคใต้มีวัตถุดิบเรื่องชีวมวลมาก ก็จะดูความพร้อมของระบบสายส่งควบคู่ไปด้วย และต้องสอดคล้องกับศักยภาพการผลิตด้วย โดยระบบนี้จะสร้างความยุติธรรมให้ผู้ผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่จะใช้ระบบ Adder ที่ใครยื่นเจตจำนงก่อน ก็ได้สร้างก่อน ซึ่งไม่มีความชัดเจน แต่การกำหนดโซนนิ่งและดูระบบสายส่งแต่ละพื้นที่ จะทำให้เกิดการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย” นายธรรมยศกล่าวต่อว่า การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น โดยเฉพาะพลังงานจากขยะจะมีการเตรียมโปรแกรมการส่งเสริมและคัดเลือกโครงการในรูปแบบที่เหมาะสมต่างหากออกไป กรณีการส่งเสริมขยะชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน จะปรับให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีขยะอุตสาหกรรมจะปรับให้รองรับกับแผนส่งเสริมของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเร่งผลักดันแผน เชื่อว่าจะสรุปผลได้เร็วๆนี้.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์