เอกชนสวน “รมว.คลัง” ไม่ขยายวงเงินช่วยเอสเอ็มอีค้ำสินเชื่อ หรือรัฐบาลพูดไม่จริงที่ว่า “เศรษฐกิจฟื้น” หนุนนโยบายค่าจ้างเสรีรายพื้นที่ ศูนย์กสิกรไทยชี้ ครัวเรือนไทยระทม ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนดิ่งต่ำสุดรอบ 7 เดือน ขณะที่ สศค.จ่อปรับลดจีดีพีประเทศอีกรอบ สิ้นเดือน ก.ค.นี้ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวคิดการปรับแนวทางการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปัจจุบันกำหนดไว้ 300 บาททั่วประเทศ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีกำหนดต้องปรับขึ้นในปี 2559 ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเป็นระดับเดียวกันทั้งประเทศ โดย ส.อ.ท.อยากให้คณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง พิจารณากันเองในแต่ละจังหวัด ตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจใน พื้นที่ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว เต็มที่ สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะปรับขึ้น ค่าแรง และคงระบุไม่ได้ว่าค่าแรงสูงสุดควรเป็นเท่าใด “กรณีค่าแรงที่มีการพูดถึงในปัจจุบัน เพื่อให้ความเห็นของภาคเอกชนต่อเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจน ส.อ.ท.จึงเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน ภาคเอกชน หรือ กกร. ที่มี ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อเป็นข้อสรุปของ กกร.” นายสุพันธ์ยังกล่าวถึงโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีประเทศไทย ระยะที่ 2 ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการร่วมกับ ส.อ.ท.และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของเงินลงทุนรวม ส่วนที่เหลืออีก 75% ผู้ประกอบการต้องรับภาระด้วยตัวเอง เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมในกระบวนการผลิต จนสามารถจำหน่ายสินค้านั้นๆ ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยปีนี้ได้รับงบประมาณจาก สนช.วงเงิน 500 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 250 ราย เพื่อให้สามารถต่อยอดโครงการและสร้างเม็ดเงินได้กว่า 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่สร้างเม็ดเงินได้ 6,000 ล้านบาท สำหรับกรณีที่นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ภาคเอกชน เสนอให้ภาครัฐขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) จาก 18% เป็น 30% นายสุพันธ์กล่าวว่า ในเมื่อรัฐบาลประเมินว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นก็เป็นเหตุผลให้ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อได้ เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะไม่ได้พูดความจริง โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นมติ ร่วมของ กกร.เพราะเห็นว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาด้านสินเชื่อ และแนวทางนี้ไม่ได้ขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อแต่เพิ่มในส่วนของวงเงินค้ำประกัน วันเดียวกันนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลสำรวจ ภาวะการครองชีพของครัวเรือนเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 45.0 จากระดับ 45.8 ในเดือน เม.ย.58 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ที่สะท้อนมุมมองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ลดต่ำลงต่อเนื่อง ไปอยู่ที่ 46.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การชะลอตัวเกิดจากครัวเรือนส่วนใหญ่ ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากรายได้ของ ครัวเรือน ทั้งในและนอกภาคการเกษตรยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างเต็มที่จนสามารถชดเชยกับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายครัวเรือนอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดภาคการศึกษา นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีผลโดยตรงต่อภาระการชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนมากนัก เนื่องจากการก่อหนี้ระยะยาวมักจะมีการทำสัญญาผูกพันค่างวดไว้ล่วงหน้า “ประเด็นสำคัญที่ได้จากผลสำรวจล่าสุด คือ ครัวเรือนเริ่มมีความกังวลต่อภาวะการออมเงิน ทั้งนี้ดัชนีที่สะท้อนมุมมองต่อภาวะการออมของครัวเรือนในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ลดลงมาที่ ระดับ 48.3 และ 49.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรก แต่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ หลัง รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบและการลงทุนภาครัฐเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ”
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าสศค.เตรียมปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปีนี้ หลังจากที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นสัดส่วนใหญ่ในการคำนวณจีดีพี ทั้งนี้ สศค.จะประกาศประมาณการจีดีพีอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ โดยประมาณการจีดีพีล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.7% ปรับลดจากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 3.9% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง ทำให้คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 0.2% จากเดิมมา 1.4%.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : market.onlineoops.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์