หลังการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น-ปลดล็อกกิจการจากบริษัท ปตท. ตามนโยบายรัฐบาลไปล่าสุด บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้ได้กองทุนวายุภักษ์ และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 15% และ 14% ตามลำดับ ขณะกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เพียง 10% ที่เหลือ 60% เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์นั้น ผู้บริหารบริษัทบางจากปิโตรเลียม นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่บางจากปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา บางจากได้ชื่อว่าเป็นผู้นำพลังงานทดแทน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และหลังการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ข้างต้นยิ่งทำให้บางจากมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นและในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 31 ของบางจากจึงถือได้ว่าเป็นการก้าวสู่ Next Chapter Begin ของบางจากอย่างแท้จริง “นโยบายของบริษัทจากนี้ไปจะรักษากำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมและดอกเบี้ย (EBITDA) ให้ได้ปีละ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน และการตลาดน้ำมันขึ้นมาใกล้เคียงกับธุรกิจโรงกลั่นที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบันเพื่อสร้างสมดุลและกระจายความเสี่ยงให้แก่บริษัท”
กางแผนลงทุนกระหึ่ม 9 หมื่นล้าน ทั้งนี้ แผนการลงทุนของบางจากในระยะ 5-6 ปีข้างหน้า (ปี 2558-2563) ได้เตรียมเงินลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นด้านพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศไว้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท จากงบลงทุนรวม 90,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและกระจายแหล่งรายได้เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท รวมทั้งเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการกลั่นซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักในปัจจุบันถึง 50% ภายใต้แผนลงทุนใหม่จะเน้นธุรกิจพลังงาน 4 ด้าน คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม พลังงานสะอาด หรือ “กรีนพาวเวอร์ แพลนท์” ธุรกิจค้าปลีกและการตลาดน้ำมัน และธุรกิจ Non-Oil พร้อมแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมและพลังงานทดแทนใหม่ๆ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมให้ได้ถึง 200,000 บาร์เรลต่อวัน และขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จาก 188 เมกะวัตต์ในปัจจุบันให้ได้ถึง 500 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีแผนรุกพลังงานชีวภาพ ชีวมวล โรงไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมถึงโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพอีกด้วย “บริษัทพร้อมจะเข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 รวมทั้งศึกษาการเข้าร่วมผลิตโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะตามนโยบายรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้น” ด้านธุรกิจด้านการตลาดนั้น บริษัทไม่ได้มุ่งขายน้ำมันอย่างเดียว แต่มีแผนเพิ่มธุรกิจที่เป็น “นอนออยล์” ทั้งการปรับเพิ่ม “อินทนิล การ์เด้น” การรุกธุรกิจกาแฟออแกนิก โดยได้เริ่มเปิดสาขานำร่องที่ถนนบายพาส ชะอำ เพชรบุรี และถนนบายพาส ใกล้นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรีไปแล้ว โกอินเตอร์ประกาศศักดาบริษัทพลัง-งานไทย และเพื่อแสวงหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ผู้บริหารบางจากได้นำสื่อมวลชนร่วม 30 ชีวิตเหินลัดฟ้าสู่ดินแดนนกกีวี-นิวซีแลนด์เพื่อเยี่ยมชมต้นแบบของพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geother-mal Power station) ณ โรงไฟฟ้า Wairakei Power และ Te Huka ของบริษัท Contact Energy ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 2 ของนิวซีแลนด์ “การเลือกเดินทางมาศึกษาดูงานที่นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียครั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ชื่อว่ามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนิวซีแลนด์นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นอันดับแรก ทั้งจากน้ำ พลังงานใต้พิภพ และพลังงานลม ก่อนจะไปถึงโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ” ขณะที่บริษัท Contact Energy นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของนิวซีแลนด์ มีโรงไฟฟ้าอยู่ถึง 12 โรง กำลังผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 8,000 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 2 โรง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4 โรง และโรงไฟฟ้าจากความร้อนใต้พิภพหรือ “จีโอเทอร์มอล” 5 โรง จ่ายไฟให้กับนิวซีแลนด์มากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ “นิวซีแลนด์นั้นมีการเรียนรู้การใช้ความร้อนใต้พิภพมาผลิตไฟฟ้ามานับ 100 ปีแล้ว อย่างโรงไฟฟ้าที่เมือง Taupo แห่งนี้ มีการก่อสร้างและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานใต้พิภพมาตั้งแต่ปี 1950 หรือกว่า 65 ปีมาแล้ว” รุกลงทุน “กรีนพาวเวอร์” ต่างประเทศ ก่อนหน้านี้บริษัท BCP Energy International Pte.Ltd. ของบางจากได้เข้าไปลงทุนในบริษัท Nido Petroleum ของออสเตรเลียที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในสัดส่วน 82% โดยบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของแหล่งสัมปทาน Galoc ในฟิลิปปินส์ที่มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 7,000 บาร์เรลต่อวัน และยังมีการพัฒนาแหล่ง West Linapacan รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการวางแผนขยายการขุดเจาะปิโตรเลียมไปยังแหล่งอื่นๆ ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอีกด้วย โดยบางจากมีแผนใช้บริษัทดังกล่าวเป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจด้านนี้ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีแผนเข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในไทยด้วย
ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น นอกจาก BCP Energy จะผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขนาด 118 เมกะวัตต์จำหน่ายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ยังขยายการลงทุนไปญี่ปุ่น โดยร่วมลงทุนกับบริษัทเชาว์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีกำลังผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นแล้ว ล่าสุด บอร์ดบางจากยังอนุมัติให้บริษัทเข้าไปลงทุนในบริษัท เวสเทิร์น ลีเธียม จำนวน 5 ล้านเหรียญ หรือ 7% ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่ลิเธียมในอเมริกาและแคนาดา ทั้งยังเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลีเธียมป้อนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “เทสล่า” รายใหญ่ของโลก ที่คาดว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตจากการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังอินเทรนด์.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์