วีรพงษ์ รามางกูร : ท.? อะไรก็ได้
คนไทยทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก จากที่เคยหงุดหงิดจู้จี้ ตอบสนองเร็วต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการเปลี่ยนแปลง ความเป็นไป รวมถึงตรรกะของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่ออกมาให้คำอธิบายหรือชี้แจง
พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่เคยมีความรู้สึกเร็วต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งจากคำพูดหรือตรรกะที่มีอยู่ในสังคมตลอดเวลา สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ ผู้วิพากษ์วิจารณ์ข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุ ผู้ที่มีอาชีพทางขายข่าว ขายคำวิพากษ์วิจารณ์ ประเทศไทยซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดความเห็น สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุดในบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียน บุคลากรสื่อมวลชนเป็นคนมีคุณภาพและเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและนิติรัฐมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แม้แต่ฟิลิปปินส์ ไม่ต้องพูดถึงพม่าและประเทศที่เคยเป็นประเทศสังคมนิยม รวมทั้งไต้หวันและเกาหลีใต้
เรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือเรื่องปากท้อง ซึ่งกระทบต่อคนที่เป็นรากหญ้าในทุกจังหวัด คนที่ใช้แรงงานในโรงงานในเมือง ในกิจการท้องถิ่น คนที่ประกอบอาชีพกิจการขนาดเล็กและเจ้าของธุรกิจขนาดกลางที่นิยมเรียกกันเป็นภาษาฝรั่งว่าเอสเอ็มอี ขณะนี้กำลังถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนต้องทยอยกันเลิกกิจการทุกวัน
ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยาง จากที่เคยเสียงดังเมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง ทั้งราคาข้าวเปลือก ราคายางพารา ราคาอ้อย ราคามันสำปะหลัง บัดนี้ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเป็นในรอบ 10 ปี
กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลงอย่างมาก เพราะเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรทุกตัวพากันมีราคาลดลงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในระยะหลายปี ขณะที่กำลังซื้อของครัวเรือนลดลง สัดส่วนหนี้สินของครัวเรือนเมื่อเทียบกับรายได้ก็พุ่งสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความมั่นใจของครัวเรือนผู้บริโภคลดลง เพราะไม่มั่นใจในอนาคต ไม่มั่นใจว่ารายได้ของตนจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใดถ้าหากราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำอยู่อย่างนี้
ทั้งๆ ที่สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ในต่างจังหวัดก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่เหมือนสมัยที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนคิดว่าดีแล้ว
ในภาคอุตสาหกรรม เท่าที่ได้ยินก็คืออุตสาหกรรมต่างๆ ขายของไม่ออกตามเป้าหมาย สินค้าคงคลังของสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะได้ลดสินค้าคงคลังที่เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วนลงอย่างมากแล้ว แรงงานที่เคยได้ทำงานล่วงเวลา บัดนี้ งานล่วงเวลาก็ไม่มีแล้วและกำลังจะมาถึงขั้นต้องลดแรงงานปกติลง เมื่อบริษัทบางแห่งต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เพียง 4-5 ตำแหน่ง แต่มีคนมาสมัครขอทำงานถึง 200-300 คน โรงงานขนาดกลางหลายแห่งจ้างแรงงานเพียง 100 คน แต่มีคนมาสมัครงานทุกวัน มาลงชื่อสมัครไว้เป็น 1,000 คน โรงงานบางแห่งจากที่เคยจ้างแรงงานเป็นรายเดือน ก็เปลี่ยนเป็นจ้างเป็นรายวัน ให้คนงานหยุดงานสัปดาห์ละ 2-3 วัน โรงงานเกือบทุกแห่ง เกือบทุกอุตสาหกรรมต้องปลดพนักงานทุกระดับ ไม่ว่าระดับต่ำ ระดับสูง ไม่มีโบนัส ไม่มีเพิ่มเงินเดือน โรงงานบางแห่งย้ายฐานไปอยู่ประเทศอื่น เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วมากในช่วงปีที่ผ่านมา ลักษณะอาการเช่นนี้เคยเกิดขึ้นนานมาแล้วสมัยเศรษฐกิจตกต่ำ หลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองระหว่างปี 2520 ถึง 2528 สมัยรัฐบาลป๋าเปรม แต่ก็ไม่มีใครบ่น
ในด้านสถาบันการเงิน สภาพการณ์เช่นที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เรียกได้เต็มปากก็คือเกิดสภาพ "กับดักสภาพคล่อง" หรือ "liquidity trap" เกิดขึ้นอีกแล้ว "สภาพกับดักสภาพคล่อง" คือสภาพที่เงินออมมีปริมาณสูงกว่าเงินลงทุน เงินออมเมื่อไหลเข้าไปฝากในระบบธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น แล้วเงินไม่ไหลออกไปในรูปสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายหรือเพื่อการลงทุน สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์จึงกลายเป็น "กับดักสภาพคล่อง" เงินล้นธนาคารแต่ปล่อยไม่ออก เพราะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังเป็นธุรกิจที่ไม่ดีพอ ไม่อยู่ในฐานะที่ธนาคารพาณิชย์จะให้กู้ได้
ธนาคารพาณิชย์ขณะนี้จึงให้กู้ได้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจหดตัวนานวันเข้า บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะถูกบริษัทขนาดใหญ่ซื้อกิจการ หรือซื้อสิทธิบัตร ซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อทำการผลิตเสียเอง แทนที่จะเป็นผู้รับซื้อจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัทใหญ่จะเข้าไปซื้อกิจการ ซื้อบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางมากขึ้น การผูกขาดจะเพิ่มสูงขึ้น การรวมศูนย์ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการเงิน ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด
ถ้าดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าห่วง เพราะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่อาจจะกู้จากสถาบันการเงินเอกชนได้ แต่หนี้เสียจะไปโผล่ที่ธนาคารวิสาหกิจขนาดย่อม ธนาคารอิสลามและสถาบันการเงินของภาครัฐบาล อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินของเอกชนก็คงจะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสังคมยังไม่ตระหนัก
สําหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งกล่าวกันว่ายังเป็นภาคเศรษฐกิจภาคเดียวที่ขยายตัวเกินความคาดหมาย กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ในปีนี้ ดังนั้น รายจ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในบ้านเราก็คงเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน
แต่เท่าที่ทราบนักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด ที่มาเมืองไทยในขณะนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีทั้งระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง แต่ระดับล่างจะมีจำนวนมากกว่ามาก นักท่องเที่ยวจีนมีอยู่เต็มไปหมดทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ตลาดนัดจตุจักร ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมากเกินคาด นักท่องเที่ยวยุโรป ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็ลดลงเกินคาดเหมือนกัน เพราะหลายประเทศประกาศห้ามนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยด้วยปัญหาการเมืองของเรา ผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และอื่นๆ จึงยังไม่ว่าอะไร ยังไม่เรียกร้องอะไรจากรัฐบาล
ต่างกันกับเมื่อก่อน คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมีการใช้สิทธิเสรีภาพกันอย่างกว้างขวาง การจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลยในขณะที่ประเทศมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากมีการกระทำที่เป็นการลิดรอนหรือขัดขวางสักนิดเดียว ก็จะมีปฏิกิริยาต่อต้าน เรียกร้องทันที ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จากสื่อมวลชนหลักต่างๆ
ความรู้สึกว่ารัฐบาลเป็นผู้รับใช้ ประชาชนมีสิทธิมีเสียงเรียกร้องในเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง มีการชุมนุมเรียกร้องเมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดบริการอย่างนั้นอย่างนี้ มีการเรียกร้องให้เป็น "รัฐบริการ" แต่ในขณะนี้ความรู้สึกกลับเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม เพราะทุกวันศุกร์ผู้นำของเราจะออกมาเรียกร้องจากประชาชน ให้ประชาชนมีหน้าที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อก่อนเราเคยต่อว่ารัฐบาลอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคฝ่ายค้าน มาบัดนี้เราถูกรัฐบาลต่อว่า ว่าเราไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลออกคำสั่งทางวาจาให้เราไปคิดมาว่า เรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ควรทำอย่างไร ไม่ใช่มาถามว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไร เหตุการณ์จึงกลับตาลปัตร
เมื่อก่อนเรารู้สึกว่ารัฐบาลต้องรับใช้ประชาชน เราผู้เป็นประชาชนสามารถตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ พูดหรือเขียนต่อว่ากันตรงๆ ก็ยังทำได้ แต่ทุกวันนี้ประชาชนต้องระมัดระวังในการพูด คำพูด เพราะอาจจะถูกเรียกไปอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติได้ถ้าไม่ระมัดระวัง เพราะเราเป็นผู้ถูกปกครอง
เมื่อมีการถามกันเอง ตอบกันเอง ระหว่างสถาบันที่แต่งตั้งโดยผู้นำเอง เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถามว่าสมควรจะขยายเวลาให้รัฐบาลอยู่เพื่อปฏิรูปอีก 2 ปีหรือ 5 ปีหรือไม่ สมาชิกสถาบันต่างๆ เหล่านั้นก็ถามกันเองตอบกันเอง ถ้าจะจัดให้มีการทำประชามติก็เพื่อให้ไม่ผ่านประชามติ เพื่อให้มีการเริ่มขบวนการไปสู่ประชาธิปไตยกันใหม่ คณะรัฐประหารจะได้ยืดเวลาการอยู่ในอำนาจต่อไป ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับประชาชน หรือถ้าจะเกี่ยวประชาชนก็ไม่มีใครว่าอะไร
เดี๋ยวนี้ประชาชนไทย "อะไรก็ได้"
ขอบคุณข้อมูล จาก มติชนออนไลน์ Source : มติชนรายวัน11มิ.ย.2558