น้ำเข้าเขื่อนวิกฤติรอบ 51 ปี พาณิชย์ตรึงพื้นที่ภัยแล้งบี้พ่อค้าฉวยโอกาส
กฟผ.เตือนน้ำในเขื่อนเข้าขั้นวิกฤติ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลต่ำสุดในรอบ 51 ปี ประกาศขอให้เกษตรกรชะลอทำนาปีออกไปก่อน พร้อมจี้ทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด ด้านพาณิชย์ สั่งเข้มตรวจสถานการณ์สินค้าในพื้นที่ภัยแล้ง หวั่นสินค้าขาดแคลน พ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา
นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในภาวะวิกฤติ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-11 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเพียง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถือเป็นปริมาณต่ำสุดในรอบ 51 ปี หรือตั้งแต่มีการเก็บกักน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่ง ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 46% ซึ่งถือเป็นปริมาณลดลงในระดับวิกฤติ เหลือปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 779 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้การระบายน้ำ เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ
ล่าสุดคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน ได้ประกาศให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกชุกตามปกติ และให้ปรับลดการใช้น้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาลงเพื่อประคองปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้สามารถระบายเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนเจียดจ่ายน้ำบางส่วนให้กับพื้นที่นาที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้เพียงพอในช่วง 40 วัน หรือจนกว่าจะมีปริมาณฝนธรรมชาติเพียงพอ
ขณะเดียวกันในขณะนี้ เขื่อนภูมิพลได้ปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ ปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสถานการณ์น้ำของเขื่อนทั้ง 2 นับว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำในอ่างฯ และปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ซึ่งในอดีตเขื่อนทั้งสองเคยมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ต่ำที่สุดเมื่อปี 2535
“จากสถานการณ์น้ำดังกล่าว คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ กฟผ. จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร ปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมชลประทาน และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วง 40 วันนี้ไปได้”
ด้านนายสุชาติ สินรัตน์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การค้าภายในจังหวัด เพิ่มความถี่และเข้มงวดในการติดตาม ตรวจสอบราคาสินค้า ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ เพื่อเร่งหามาตรการป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาของพ่อค้าแม่ค้า และสินค้าขาดตลาด โดยเฉพาะสินค้าประเภทผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่พบว่าบางชนิดราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้น 3-5% เบื้องต้นจะเน้นแก้ปัญหาด้วยการเชื่อมโยงผู้ผลิตไปสู่แหล่งจำหน่ายที่ขาดแคลน
สำหรับสถานการณ์สินค้าหมวดอาหารสด/สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ประจำสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิ.ย.2558 พบว่า อาหารสดส่วนใหญ่ราคาทรงตัว ยกเว้นคะน้า ที่กิโลกรัม (กก.) 25-28 บาท สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 12.77% เพราะอากาศร้อนจัดส่งผลให้ผักเจริญเติบโตช้าและผลผลิตลดลง เป็นต้น ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น มะนาว ผลละ 3-3.5 บาท ลดลง 13.16-40.91% เพราะผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหมูเนื้อแดง-สะโพก กก.ละ 130-135 บาท, ไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน กก.ละ 60-65 บาท, ไข่ไก่ฟองละ 2.90-3 บาท ถือเป็นราคาที่ทรงตัว เพราะผลผลิตเพียงพอกับความต้องการบริโภค
“กรมฯติดตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ารายการสินค้าใดราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติ แม้ว่าปีนี้เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งจนต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไปหลายพื้นที่ แต่ถ้าประชาชนพบการเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถโทร.แจ้งไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง”
ส่วนการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.58 พบว่า มีประชาชนร้องเรียนเรื่องไม่ปิดป้ายแสดงราคา 555 ราย ราคาสินค้าแพง 233 ราย ความผิดตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด 92 ราย แสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาจำหน่าย 153 ราย ปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น 26 ราย สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ 16 ราย ผู้ค้า ปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผล 7 ราย กักตุนสินค้า 1 ราย ขายเกินราคาที่กำหนด 1 ราย อื่นๆ 85 ราย รวม 1,169 ราย
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากการที่กรมการค้าภายใน ได้จัดทำโครงการเครือข่ายนักศึกษาอาสาออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมดูแล แจ้งข้อมูลข่าวสาร และพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่าน Application Line ของกรมฯนั้น ในเดือน พ.ค.58 นักศึกษาในเครือข่ายได้แจ้งเบาะแสความไม่เป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดคือ ไม่ปิดป้ายแสดงราคา จำหน่ายสูงเกินสมควร และเครื่องชั่งไม่เที่ยงตรง ซึ่งกรมฯได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ และเปรียบเทียบปรับแล้วรวม 94,000 บาท.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.