เปิด-ปิดเรียน ตามอาเซียน กระทบบริบทสังคมไทย บางมหาวิทยาลัย ปรับกลับมาใช้ปกติแล้ว
แนะเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ต้องทำทั้งระบบ-หากทำไม่ได้ก็ไร้ผล เผยมีบางมหาวิทยาลัยเปลี่ยนกลับไปแบบเดิมแล้ว
หลังจากที่ ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุม ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) แถลงผลจากการประชุมสัมมนาวิชาการ และประชุมสมัยสามัญ ประจำปี 2558 โดยเสนอว่า "ที่ประชุมเสนอให้มีการยกเลิกการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามประเทศในกลุ่มอาเซียน ภาคเรียนที่ 1 สิงหาคม-ธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 มกราคม-พฤษภาคม และปิดภาคเรียนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม"
ล่าสุด ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า อำนาจในการเปิด-ปิดภาคเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นของอธิการบดีของแต่ละมหาวิทยาลัยส่วนข้อเสนอที่ตนเสนอไปนั้นหวังเพียงจุดประเด็นให้มหาวิทยาลัยหันกลับมาทบทวนถึงผลดี-ผลเสียของการการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า หากสถาบันอุดมศึกษาต้องการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนเพื่อจุดประสงค์ในการแข่งขันในอนาคต เช่น เพื่อรับนักศึกษาชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศ ตนก็อยากให้วิเคราะห์ให้ดีเพราะผลจากงานวิจัยระบุว่า มีนักศึกษาชาวต่างชาติมาศึกษาในประเทศไทยในสัดส่วนประมาณร้อยละ 3-4 โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ซึ่งตนมองว่าอาจเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำและทำให้มหาวิทยาลัยจำนวนมากที่เหลือเสียโอกาสในการรับนักศึกษาในระยะยาวเป็นต้น
อย่างไรก็ดีผศ.ดร.รัฐกรณ์ระบุว่า อยากให้คำนึงถึงบริบทของสังคมไทยมากขึ้นทั้งเรื่องของสภาพภูมิอากาศและประเพณีของไทย เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปี ได้เห็นถึงอุปสรรคจากสภาพภูมิอากาศอีกทั้งยังกระทบต่อปัญหาด้านประเพณี อย่างเช่น ประเพณีสงกรานต์ที่นักเรียน-นักศึกษาควรใช้เวลากับครอบครัวกลับต้องมานั่งเรียน เป็นต้น
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า หลังจากใช้รูปแบบการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีบางมหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิด-ปิดภาคเรียนกลับมาเป็นปกติแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ที่ปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนกลับมาเป็นปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและประเพณีตามเดิมแล้ว
ขอบคุณข้อมูล จาก มติชนออนไลน์ ขอบคุณรูปภาพ จาก lib20.kku.ac.th