“ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน เด่นตระการด้วยขุนเขา เกลือสินเธาว์ลือชื่อ งานฝีมือเครื่องจักสาน” เป็นคำขวัญประจำอำเภอบ่อเกลือ อำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนและมีความลาดชันเกือบครึ่งหนึ่งของอำเภอ และมีพื้นที่ราบลุ่มตามลำน้ำและหุบเขาแคบๆ เพียงร้อยละ 1.5 ของพื้นที่ทั้งหมดที่มีประมาณ 5 แสนกว่าไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล 59 หมู่บ้าน ด้วยจำนวนประชากรราว 15,000 คน นายภคพล รัตนนทชัย ปลัดอำเภอบ่อเกลือ ให้ข้อมูลว่าชุมชนในอำเภอบ่อเกลือมีแนวทางการพัฒนา 5 ด้าน ตาม “แผนภูฟ้าพัฒนา” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยเน้นหนักในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. การพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง 2. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรและอาชีพนอกภาคการเกษตรที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น 4. การพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพอนามัย และ 5. การอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงาม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น

ส่งมอบไก่ภายหลังฝึกอบรม งวดที่ 1 จำนวน 700 ตัว 15 ชุมชน

ในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ นั้น พบว่าภาวะโภชนาการเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่อำเภอบ่อเกลือเมื่อสิ้นปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวนเด็กที่เข้ารับการตรวจติดตามภาวะทางโภชนาการทั้งสิ้น จำนวน 1,097 คน พบเด็กที่มีปัญหาภาวะทางโภชนาการ จำนวน 306 คน สำรวจแล้วมีหมู่บ้านที่ควรได้รับการสนับสนุนด้านโภชนาการสุขภาพอนามัยจำนวน 15 หมู่บ้าน ประชากรรวมทั้งสิ้น 4,985 คน

แจกวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงจำนวน 15 ชุมชน 30 ชุด

จากการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนของตัวแทนจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนายอำเภอและปลัดอำเภอบ่อเกลือ พบว่าปัญหาที่ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขและอาจมีผลกระทบต่อไปในอนาคต คือ ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนบนพื้นที่สูงที่การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก ทำให้ไม่สามารถหาซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีได้ในพื้นที่โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ประกอบกับการปลูกพืชผักสวนครัวก็ให้ผลผลิตดีเป็นบางช่วงฤดูเท่านั้น จึงเป็นที่มาของโครงการ “ธนาคารอาหาร” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ “ไก่พันธุ์เนื้อ” เป็นคำตอบเมื่อคิดว่าจะสร้างธนาคารอะไรที่จะเป็นการสร้างแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์ และเห็นว่าควรเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองสามสายเลือดเพราะมีลักษณะที่โตไว ต้านทานต่อโรค เหมาะกับพื้นที่และการดูแลไม่ยุ่งยาก เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนบนพื้นที่สูง และไก่พันธุ์นี้สามารถผสมพันธุ์กับไก่พันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่จนให้ลูกได้ก็จะเป็นการต่อยอดได้ไม่หมดไป

สร้างโรงเรือนเพื่อดำเนินการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองเพื่อเป็นแหล่งอาหาร

สำหรับ “ธนาคารอาหาร” มีแนวทางในการดำเนินการ โดยมีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ดำเนินการในรูปกลุ่ม คือ สมาชิกจากครอบครัวที่มีเด็กและเยาวชนในครัวเรือนรวมทั้งครัวเรือนที่ยากจน มอบหมายหน้าที่ให้สมาชิกจัดการเลี้ยงและดูแลไก่รวมทั้งหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ผลผลิตก็จะแบ่งขายให้กับครัวเรือนที่มีศักยภาพที่สามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับครัวเรือนที่ยากจนจริงให้เป็นดุลพินิจของกรรมการหมู่บ้านที่จะแจกจ่ายให้ไปรับประทานฟรี และเมื่อไก่ที่เลี้ยงโตถึงระยะที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะเลี้ยงร่วมกับไก่พันธุ์พื้นเมืองเพื่อให้ไก่มีการผสมพันธุ์และมีการสืบพันธุ์เพื่อต่อยอดในอีกทางหนึ่งต่อไป

ไก่ในโรงเรือนเลี้ยงไก่

โครงการธนาคารอาหารเริ่มจากการสำรวจข้อมูลชุมชนและกำหนดหมู่บ้านเป้าหมายนำร่องที่เด็กมีภาวะทางโภชนาการ จากนั้นจึงประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกับชุมชนพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานก่อนจะจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทบิ๊กซีฯ เพื่อดำเนินงานตามโครงการในพื้นที่ โดยมีการติดตามประเมินผลโครงการเพื่อรับทราบปัญหาพร้อมหาแนวทางแก้ไข รวมทั้งขยายผลต่อไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป

นายโยธิน ทวีกุลวัฒน์ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

ด้านนายโยธิน ทวีกุลวัฒน์ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบิ๊กซีมีสาขารวมทั้งสิ้น 485 สาขา แบ่งออกเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 124 แห่ง บิ๊กซีมาร์เก็ต 37 แห่ง และมินิบิ๊กซี 324 แห่ง ซึ่งล่าสุดบริษัทเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในรูปแบบซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นสาขาที่ 124 บนพื้นที่กว่า 1.2 หมื่นตารางเมตร จำหน่ายสินค้ากว่า 2.5 หมื่นรายการ รวมถึงสินค้าจากศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ช่วยส่งเสริมกระจายรายได้สู่ชุมชนพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้สาขาน่าน ถือเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวทั้งจากชุมชนเมืองและการท่องเที่ยว โดยพบว่าแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาเกือบ 3 แสนคน การเปิดบิ๊กซี น่านในครั้งนี้จึงมุ่งรองรับกำลังซื้อของชาวน่านและจังหวัดใกล้เคียงในรัศมี 30 กิโลเมตร ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บิ๊กซีฯ กล่าวต่อว่า บริษัทเตรียมเงินลงทุน 3 พันล้านบาทสำหรับการขยายสาขาในประเทศไทย แบ่งออกเป็นซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 แห่ง บิ๊กซีมาร์เก็ต 18 แห่ง และมินิบิ๊กซี 100 แห่ง และการปรับปรุงสาขาเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่ในโซนพลาซ่าให้มากขึ้นอีก 2 แห่ง คือสาขาบางพลี และลพบุรี เพื่อรองรับร้านค้าที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ และทำให้บริษัทมีรายได้ระยะยาวด้วย

น.ส.วารุณี กิจเจริญพูลสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ นำคณะลงพื้นที่ชุมชนห่างไกลใน จ.น่าน

ด้านนโยบายของบริษัทหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ พร้อมกับปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง จะมุ่งเน้นการเปิดสาขาในพื้นที่ที่มีศักยภาพและยังไม่ได้เข้าไปเปิดให้บริการ ซึ่งปัจจุบันบิ๊กซีเปิดให้บริการแล้วในกว่า 60 จังหวัด โดยการขยายสาขาจะเลือกโมเดลที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเน้นการจ้างงานภายในท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย “การเพิ่มพื้นที่เช่ามากขึ้นเพื่อรองรับร้านค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์มีการขยายธุรกิจด้วยการเพิ่มแบรนด์ร้านค้าใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ต้องการพื้นที่เช่ามากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องการร้านค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายพื้นที่ในโซนพลาซ่าจากเดิมที่มีพื้นที่ราว 3 พันตารางเมตร เพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นตารางเมตร” นายโยธิน กล่าว

การเลี้ยงไก่ที่บ้านหนองน่าน

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมั่นใจว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยบวกที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียน ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกที่ผ่านมาพบว่ามีการเติบโต 13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกโดยรวม

ขอบคุณข้อมูลจาก :