วิกฤติ..คนสิ่งทอ ธุรกิจอาทิตย์ "อัศดง" ?
"สิ่งทอ" ไม่เซ็กซี่ ไม่ดึงดูด ดูตามหน้าสื่อก็เจอแต่ข่าวร้าย ต้นตอของ "วิกฤติขาดคน" ในอุตสาหกรรมสิ่งทอชนิดที่ต้อง "สร้างคน-ปรับทัศนคติ" เป็นการด่วน!
อยากเป็นอย่าง "Giorgio Armani" เจ๋งได้แบบ "Gianni Versace" ให้โลกพูดถึงเหมือน "Miuccia Prada" ภาพมโนของเด็กไทยเมื่อนึกถึงอาชีพใน อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ที่มักจะมีชื่อของ "ดีไซเนอร์ โผล่มาเป็นลำดับต้นๆ บ้านเราเลยมี "แฟชั่นดีไซเนอร์ เกลื่อนตลาด สวนทางกับคนในอีกภาคของห่วงโซ่ที่กำลัง "ขาดแคลนอย่างหนัก
ถึงขนาดที่บริษัทใหญ่อย่าง "วาโก้" ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรีเครือสหพัฒน์ ยังต้องส่งคนของตัวเองมาลงเรียนหลักสูตร วิศวกรรมสิ่งทอ และ เคมีสิ่งทอ ถึง 30-40 คน เพื่อป้อนกลับสู่ธุรกิจ เพราะสร้างไม่ทัน รอไม่ไหว สะท้อนเรื่องจริงของสภาวะ “คนขาดตลาด” ที่สะเทือนไปทั้งระบบ
"เด็กที่มาเรียนสิ่งทอน้อยลงมาก ลดลงไม่ต่ำกว่า 3-4 เท่า ดูได้จากช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กที่สนใจลดลงอย่างน่าใจหาย จากอดีตเรารับ 30 คน เด็กอาจสมัคร 150-200 คน วันนี้เราก็ยังรับ 30 คน เท่าเดิม แต่บางทีเขามาสมัครแค่ปริ่มๆ 30 คนเท่านั้น”
ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หนึ่งในสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านสิ่งทอ บอกสถานการณ์ช้ำๆ ซึ่งกำลังเกิดกับความสนใจของเด็กไทยในวิชาชีพสิ่งทอ ส่งผลให้คนทำงานในสาขานี้ต้องลดน้อยถอยลงไปด้วย ชนิดที่ปั้นมาเท่าไร ก็ไม่พอใช้ สวนทางกับความต้องการของอุตสาหกรรม ที่เขาย้ำว่า คนกลุ่มนี้สำคัญเอามากๆ
"เหมือนกล้องสามขา ฐานคือ วิศวกรรมสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ และ ออกแบบสิ่งทอ ส่วนตัวกล้องก็เหมือนกับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งหากฐานไม่แข็งแรง ขาดขาใดขาหนึ่งไปก็จะไม่สามารถค้ำยันให้กล้องทรงตัวอยู่ได้ สาขานี้จึงสำคัญมากและถ้าฐานข้างล่างเราไม่แข็งแรงแล้ว ประเทศเราก็ไม่มีทางไปสู้ใครเขาได้” เขาบอก
จินตนาการไม่ออกถึงความสำคัญ ลองนึกถึงการสร้างตึกสักหลัง สถาปนิกออกแบบ วิศวกรสร้าง ส่วนมัณฑนากรก็ตกแต่งภายใน เขาบอกว่า วันนี้บ้านเรามีมัณฑนากรเยอะแยะไปหมด คือมีแต่ "แฟชั่นดีไซเนอร์"
ทว่า ตัวตึกใครจะเป็นคนสร้าง โครงสร้างตึกที่แข็งแกร่ง และมีนวัตกรรมใครจะทำ ใครกันจะมีความรู้เรื่องโครงสร้างเส้นด้าย เส้นใย ผลิตผ้าที่มีนวัตกรรม คุณภาพเป็นเลิศ เพื่อไปขายในมูลค่าที่สูงขึ้นได้ ถ้าไม่ใช่วิศวกรสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ และนักออกแบบสิ่งทอ ที่ขาดหาย
“แรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่มห่ม ก่อนการย้ายฐานของการ์เม้นท์ที่หนีเรื่องค่าแรง คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มแรงงานฝีมือ ที่ประมาณ 20% หรือประมาณ 2 แสนคน!”
เขาบอกตัวเลขขุนพลในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่จะเป็นแต้มต่อในการแข่งขันของประเทศนับจากนี้ เมื่อสิ่งทอไทยไม่สามารถสู้กันด้วยแรงงานราคาถูกได้อีกแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนหมากรบเป็นใช้เครื่องจักร ใช้เทคโนโลยี มาทำงานแทนคน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้มาก็ด้วย “พลังคน” กลุ่มนี้ทั้งนั้น
ขณะที่ พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มน่าจะเหลืออยู่เพียง 7-8 แสนราย หลังกลุ่มการ์เม้นท์ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมากเลือกย้ายฐานไป CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) กันหมด ขณะที่แรงงานฝีมือในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ระดับหัวหน้างาน ฝ่ายเทคนิค วิศวกรคุมเครื่องจักร ไปจนระดับผู้จัดการ เขาย้ำว่า “ขาดแคลนทุกตำแหน่ง” และมีความต้องการอีกเป็นหมื่นอัตรา !
ทำไมเด็กไทยไม่สนใจสิ่งทอ? ถึงขนาดที่คนในวงการต้องตัดพ้อว่า ขาดแคลนหนักมาก"ปรีญา อุนนาทรวรางกูร" นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย ที่เจอชะตากรรมเดียวกัน หลังอุตสาหกรรมฟอกย้อม มีแรงงานฝีมือกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ทำงานในห้องแลบ อย่าง นักวิทยาศาสตร์ พนักงานเจ้าหน้าที่ห้องแลบ ตลอดจนกลุ่มที่อยู่หน้างาน ระดับซุปเปอร์ไวเซอร์ ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งวันนี้ตกอยู่ในสภาวะ "ขาดแคลนหนักมาก"
เธอแสดงความเห็นว่า เด็กไม่สนใจสิ่งทอ ส่วนหนึ่งเพราะการรับรู้ที่มีต่ออุตสาหกรรมนี้ยังไม่ค่อยดีนัก เรียกว่า เปิดสื่อดูก็เจอแต่ข่าวปิดโรงงานบ้าง คนงานประท้วงบ้าง ไม่ค่อยมีข่าวดีให้คนได้นึกถึง เด็กส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจในอุตสาหกรรม ไม่เห็นความสำคัญของคนในวิชาชีพนี้ บางคนห่วงเรื่องโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ ไล่ไปจนทัศนคติของพ่อแม่และเด็ก ที่ไม่เลือกเรียนสายอาชีวะ เพราะเข้ามหาวิทยาลัยศักดิ์ศรีดีกว่า ค่าแรงสูงกว่า และการเรียนมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะที่เรียนมีมาก แถมยังกู้เงินเรียนได้อีกด้วย
“จบป.ตรี มีเงินการันตีแล้ว 1.5 หมื่นบาท ได้หรือไม่ได้งานนั่นอีกเรื่อง แต่ว่าตอนเรียนเขามองตรงนี้ก่อน ฉะนั้นคนที่จะไปเรียนในสายอาชีวะก็หายไป คนที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมก็น้อยลงไปด้วย”
มาซ้ำให้หนักขึ้นไปอีก กับการขยายตัวของห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์สโตร์ ที่แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมมองเมือง กระทั่งภาคการท่องเที่ยวและบริการ อย่าง โรงแรมต่างๆ ที่พร้อมจะ “แย่งคน” ไปจากอุตสาหกรรมได้ทั้งนั้น เพราะงานสบายกว่า แถมยังได้อยู่ในพื้นที่ ชีวิตแฮปปี้เพราะค่าครองชีพถูก
“เขาทำงานในห้างแอร์สบาย ค่าครองชีพในพื้นที่ก็ถูกว่า อย่างค่าแรงสมัยก่อนที่ยังไม่ใช่ 300 บาททั่วประเทศ ต่างจังหวัดค่าแรงน้อยกว่า คนก็มาทำงานในเมือง แต่พอเป็น 300 บาทเท่ากัน อยู่ที่ไหนก็ได้เท่ากันหมด เขาเลยไม่ย้าย”
ขณะที่ ดร.ปรีชา เล่าบุญลือ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแปซิฟิคการทอ จำกัด โรงงานฟอกย้อมสิ่งทอในเขตจ.สมุทรสาคร สะท้อนความคิดว่า เด็กสมัยนี้ส่วนหนึ่งไม่มีความคิดจะมาทำงานประจำ แต่อยากทำธุรกิจ อยากเป็นนักลงทุน อยากสบาย ไม่อยากเป็นลูกจ้าง
“พนักงานของเรามีประมาณ 200 คน สำหรับงานที่ทำมองว่าเป็นแรงงานทักษะถึงประมาณ 150 คน ที่ไร้ฝีมือแทบไม่มีเลย ตอนนี้หลังจากได้แรงงานพม่าเข้ามาชดเชย เทิร์นโอเวอร์ เรต อยู่ที่ประมาณ 15% แต่ก่อนหน้านี้อย่าเรียกว่า เทิร์นโอเวอร์เลย ให้เรียกว่า หาไม่ได้เลยดีกว่า ที่ออกไปไม่รู้เมื่อไรจะมีคนเข้ามาแทน ซึ่งกระทบกับธุรกิจมาก” เขาบอก
นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องปรับตัว โดยการพยายามเอาเทคโนโลยี เอาเครื่องจักรดีๆ เข้ามาช่วย เพื่อพึ่งพิงคนให้น้อยลง แต่ยิ่งใช้วิธีนี้ ก็ยิ่งต้องมีคนเก่งๆ มาดูแลเครื่องกันมากขึ้น เมื่อ “ข้อกลาง” คือ เด็กอาชีวะหายไป ขาดคนที่จะมาเป็นหัวหน้าคอยควบคุมงาน ทางเดียวที่ทำได้ คือ ดึงเด็กปริญญาตรีและแรงงานทั่วไปให้เข้าใกล้กันมากที่สุด
“หัวหน้างานระดับปริญญาตรี ต้องลงมาทำงานที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับพนักงานระดับล่างมากขึ้น ซึ่งก็เป็นปัญหาอีก เพราะปริญญาตรี จะให้มาวิ่งอยู่ในโรงงาน วิ่งไปคุยกับคนงาน ไปดูแลเครื่องจักรเอง บางคนก็บอกว่า ไม่ใช่แนวเขา ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ เข้ามา 100% เหลืออยู่จริงๆ ไม่ถึง 50% ซึ่งอย่าคิดว่าจะหยุดแล้ว พวกนี้พอทำไป 5-6 ปี อย่างที่บอกแรงงานระดับหัวหน้างานกำลังขาด เขาก็ไปสมัครโรงงานที่ใหญ่กว่า อัพเงินเดือนขึ้น 60-70% ไปจากเราได้ง่ายๆ”
คนเก่งที่ปั้นมา พออยู่ในยุค “สวยเลือกได้” เลยมีสิทธิ์ตีจากไปได้ง่ายๆ งั้นลองวิธีใหม่มาปั้นหัวหน้างานจากระดับล่างขึ้นมาบ้าง ประเภทจบไม่สูง แต่ประสบการณ์ไปต่ำกว่า 20 ปี มีความพยายาม ความตั้งใจเป็นเลิศ แต่เขาบอกว่า ก็มีอุปสรรคอีก เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องจักรใหม่ๆ มีแต่ภาษาอังกฤษเต็มไปหมด การจะให้คนที่มีแต่ประสบการณ์มาปรับตัวไปตามกระบวนการสมัยใหม่นั้น ยังเป็น “ข้อจำกัด” สำหรับพวกเขา
นั่นคือเหตุผลที่เขาบอกว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันของภาคการศึกษา และธุรกิจ เพื่อหาวิธี “ดึงดูด” ให้เด็กกลับมาเรียนสิ่งทอกันมากขึ้น เรียนให้ตรงกับงาน และเติมเด็กข้อกลาง คือ กลุ่มอาชีวะให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ในฐานะภาคธุรกิจ เขาบอกว่า ยินดีเปิดประตูให้นิสิตเข้ามาเรียนรู้งานจริง ได้ลองใช้เครื่องไม้เครื่องมือจริงในโรงงาน โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องกลับมาทำงานให้บริษัท เพราะเชื่อว่า คนเก่ง ไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหนของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ก็สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการนี้ได้ทั้งสิ้น และคนกลุ่มนี้นี่แหล่ะจะเป็น “ความหวัง” ของพวกเขา
ถ้าปรับเรื่องคนได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ ดูตัวอย่าง “พิบูลย์ มนัสพล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดสตาร์ท จำกัด ที่แก้ปัญหาแรงงานในภาคการ์เม้นท์ ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่า “ไม่มีคนงาน” จนหลายรายต้องย้ายฐานไปเพื่อนบ้าน ส่วนพวกปรับตัวไม่ทันก็ต้องจากไปถึงประมาณ 30% เขาเองจากแรงงานกว่า 130 คน มีคนเหลือเพียง 80 คน เขาเลือกปรับตัวโดย การปรับคน มายกระดับความสามารถให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งใช้เครื่องจักรทดแทน รับออเดอร์เล็กลง มุ่งสู่ตลาด Niche มากขึ้น จากเดิมผลิตเสื้อได้กว่า 3 หมื่นตัวต่อเดือน ปัจจุบันเหลือที่กว่า 2 หมื่นตัว แต่ทว่ากลับสร้างมูลค่าได้สูงขึ้นถึงกว่า 20%
พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ยังบอกว่า มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทย อยู่ที่ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามามากที่สุด ทว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศจำเป็นต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้น จึงต้องสู้แบบใหม่ และไม่ใช่ทำของถูก ซึ่ง “แรงงานทักษะ” ยังเป็นคำตอบของหมากรบครั้งนี้
“ทำอย่างไรจะให้คนสนใจสิ่งทอ ก็ต้องเอา "แฟชั่น" มาเป็นตัวนำ เพราะค่อนข้างเซ็กซี่ น่าดึงดูดหน่อย จากนั้นก็ค่อยถอยหลังกลับไปว่า กว่าจะได้มาซึ่งแฟชั่นแบบนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และถ้าไม่มีคนเหล่านี้แฟชั่นก็เกิดไม่ได้นะ เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของทั้งซัพพลายเชน ได้เห็นคุณค่าของงานในส่วนต่างๆ ที่สำคัญต้องให้เขาเห็น แคเรียพาร์ท เห็นโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพด้วย เรียกว่า ต้องดึงดูดพอที่จะทำให้คนอยากอยู่ในอุตสาหกรรมนี้” เขาบอก
ขณะที่ สิ่งทอทุกวันนี้ เขาบอกว่า คงไม่สามารถมองแค่สิ่งทอในไทยได้อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องมองไปที่ "สิ่งทออาเซียน" โดยเราต้องใช้จุดแข็งที่เรามีในการทำ ต้นน้ำ และกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำอย่างเรื่องของการตัดเย็บต้องให้แรงงานราคาถูก อย่าง CLMV เป็นคนทำ แต่ “นวัตกรรม ความคิด และดีไซน์” ต้องเป็นของเรา
“ทางออกมองเห็นชัดอยู่แล้ว แต่เราจะต้องสร้างตัวของเราเองให้สามารถแข่งขันได้ โดยต้องเอาจุดแข็งเอาความเชี่ยวชาญของเรา มาพัฒนาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แรงงานใช้คนอื่นทำ แต่เราวางตัวเป็น "Trading Center" นั่นคือ ทางออกของเรา ซึ่งถ้าไม่มีคน หรือสร้างคนขึ้นมาไม่ได้ เราก็ทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้” เขาบอก
ก่อนปิดท้ายว่า การสร้างคน ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องกลับไปให้ความสำคัญ และหมดยุคทำแบบ “ตัวใครตัวมัน” อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องร่วมมือกันมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่การจับมือกับคนในวงการเท่านั้น แต่ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นด้วย รวมถึงขยับความร่วมมือไปยังภูมิภาคอาเซียน
เพื่อเปลี่ยนภาพความเงียบเฉาของวงการสิ่งทอ ให้กลับมาสดใสได้อีกครั้ง ด้วยพลังของ “คนสิ่งทอ” ที่แม้จะสวยเลือกได้ แต่ก็ไม่หายไปจากอุตสาหกรรมนี้
........................................... เปิดใจเด็กสิ่งทอ : ไม่เป็นลูกจ้าง อยากสร้างแบรนด์"อนรรฆณนท์ รักญาติ คือ นิสิตสาขาออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่เพิ่งจบมาสดๆ ร้อน ในวัยเพียง 22 ปี เขาคือ เจ้าของ "แบรนด์ AANALA" และเริ่มมีกิจการของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนปี 4
เด็กหนุ่มเลือกเรียนออกแบบแฟชั่น เพราะความชอบ และรักการเป็นสไตลิสต์ ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบ และไม่มีแม้แต่ทักษะด้านการวาดรูปด้วยซ้ำ ทั้งหมดล้วนถูกฝึกฝนและเรียนรู้ระหว่างศึกษา พร้อมกับแรงขับที่บอกตัวเองว่า
"ต้องขยัน เพื่อที่จะให้ทันคนอื่นเขา"ระหว่างที่คนอื่นเรียนไปแบบสนุกๆ ขำๆ แต่เขา เลือกไปทำงานกับโรงงานต่างๆ อย่าง ไปฝึกงานที่ บริษัทแกรนด์สปอร์ต เพื่อเอาความรู้ด้านการวาดรูปในคอมที่ไม่ถนัด และศึกษาโลกของเสื้อผ้ากีฬาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ไปสมัครเป็นช่างปักกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง เพื่อเก็บความรู้ไว้ต่อยอดความสามารถของตัวเอง ระหว่างทางก็ส่งผลงานเข้าประกวดหาประสบการณ์ไปด้วย เรียนไปทำงานไปตั้งปี 2-3 พอปี 4 เลยเปิดธุรกิจของตัวเอง ทำแบรนด์แฟชั่นให้กับสาวบิ๊กไซส์ ขายที่ประตูน้ำ ซึ่งยอดขายก็ไม่ธรรมดา ตกเดือนละ 500-600 ตัว ก่อนแตกไลน์มาสู่เดรสสำหรับงานแต่งงานในปัจจุบัน ทั้งหมดไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่เกิดจากความพยายาม มุ่งมั่น และฝึกฝน ของตัวเขาล้วนๆ
เขายอมรับว่า ข่าวสิ่งทอไม่ดีก็มีแอบหวั่นๆ แต่คำตอบของการไม่อยากเป็นลูกจ้าง ก็แค่ไม่ชอบทำงานภายใต้ความกดดัน เป็นลูกน้องเขาต้องคอยรองรับอารมณ์คนอื่น ทำงานออกมาบางคนชอบ บางคนไม่ชอบ จะออกแบบทั้งทีก็มาติดที่ฝ่ายดูแลต้นทุนบอกแพงไปบ้าง ไม่เอา ตัดทิ้งบ้าง งานดีไซน์เลยเหลือความสำคัญน้อยลงทุกที เพราะอยู่บนการตัดสินใจของคนอื่น เลยเป็นที่มาของการอยากเปิดแบรนด์ตัวเอง และเดินตามความฝันด้วยขาของตัวเอง
"ผมเลือกสร้างแบรนด์เพราะไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็ไม่ง่าย ต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก เด็กสมัยนี้ผมมองว่าเก่งนะ แต่ก็มีอุปสรรคคือ มีอารมณ์ที่เป็นส่วนตัวสูง ชอบเพ้อฝัน จินตนาการสูง มาถึงก็อยากเปิดแบรนด์ อยากทำอะไรของตัวเอง ทั้งที่บางทีศักยภาพเราอาจจะยังไม่พอก็ได้ บางคนคิดว่า ออกแบบแฟชั่นง่ายๆ แต่มันไม่ใช่เลย ทั้งหมดต้องฝึกฝนและสั่งสม"
ขอบคุณข้อมูล จาก กรุงเทพออนไลน์