ทรัพย์สินจุฬาฯ ลงทุน 140 ล้าน รื้อเชียงกง ปั้น “สวนหลวงสแควร์” เจาะกำลังซื้อย่านจุฬาบรรทัดทอง มั่นใจปิดจองพื้นที่สิ้นปี พร้อมลุยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ปั๊มรายได้ นายบุญส่ง ศรีสว่างเนตร ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาที่ดินของทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กว่า 200 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ คิดเป็น สัดส่วน 20% ของพื้นที่ทั้งหมด 1,000 ไร่ โดยมุ่งพัฒนา จากชุมชนที่อยู่อาศัยรูปแบบอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ให้เป็นแหล่งค้าปลีกที่มีความทันสมัย ผสมผสานเรื่องราวหรือตำนานในพื้นที่ควบคู่กับการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เป็นเมืองขนาดเล็ก ประกอบด้วยที่พักอาศัย และย่านการค้า ที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแผนแม่บท 10 ปี ในปีที่ผ่านมา ได้ใช้งบลงทุน 140 ล้านบาท พัฒนาโครงการ “สวนหลวงสแควร์” โดยปรับปรุงพื้นที่และทัศนียภาพบริเวณจุฬาฯ ซอย 5 ซึ่งเดิมเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น จำหน่ายอะไหล่รถ มือสอง หรือย่าน “เชียงกง” ถูกออกแบบโดยผสมผสานระหว่างที่พักอาศัยและแหล่งค้าปลีก ภายใต้แนวคิด “แหล่งรวมความอร่อย และความสุข ของชีวิต เป็นต้นแบบของย่านการค้าชุมชน” บนเนื้อที่ 10 ไร่ 170 คูหา แบ่งเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึก สถานบริการความงาม ร้านแฟชั่น ร้านประดับยนต์ ปัจจุบันมีผู้เช่าพื้นที่ 30% คาดเต็ม 100% ในสิ้นปีนี้ สำหรับอัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 400 บาทต่อตารางเมตร หรือ เดือนละ 3 หมื่นบาท “สวนหลวงสแควร์ จะเป็นแหล่งพาณิชย์เชิงอุตสาหกรรมในรูปแบบอาคารพาณิชย์ที่วางเป็นตรอกซอย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตามผังแม่บทของจุฬาฯ ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ซึ่งเป็นเหมือนบ้านเก่าเมืองใหม่ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตในกับคนในอนาคต ที่ผ่านมาธุรกิจอาคารพาณิชย์มีจุดอ่อนหลายเรื่อง โดยเฉพาะความสกปรก อับทึบ ดังนั้นทรัพย์สินจุฬาฯ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาโครงการสวนหลวงสแควร์ ขึ้นมา เพื่อลบล้างภาพลักษณ์และแนวคิดเก่าๆ หากประสบความสำเร็จจะเป็นโมเดลต้นแบบของการทำธุรกิจต่อไป” นายบุญส่ง กล่าวต่อถึงโครงการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่อขยายโรงแรมใน โครงการอาคารสยามกิตติ์ การสร้างอาคารจอดรถ และพื้นที่ค้าปลีกบริเวณศูนย์การค้าโบนันซ่าเดิม พื้นที่ 6 ไร่ ยังเป็นไปตามแผนงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดเริ่มดำเนินงานได้ปีหน้า
ขณะที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ปรับตัว ดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้เช่าพื้นที่มียอดขายที่ดีขึ้น ส่วนร้านค้าที่ย้ายออกส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบนร้านไม่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าสยามสแควร์วัน ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และกลุ่มนักท่องเที่ยว ส่วนความคืบหน้าโครงการ “ซียู สปอร์ต โซน” อยู่ระหว่างก่อสร้าง ด้วยงบลงทุน 150 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จต้นปี 2559 ซึ่งโครงการดังกล่าวมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ 2-3 รายให้ความสนใจ เหมาพื้นที่พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกที่มีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง สำหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทยปีนี้ เชื่อว่า มีทิศทางดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยเฉพาะบริเวณสยามสแควร์ และย่านปทุมวัน ถือเป็นแหล่งชอปปิง ลำดับต้นๆ ของประเทศที่ได้รับความนิยมจาก ชาวไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเห็นได้จากยอดจองที่พักของโรงแรมย่านสนามกีฬาแห่งชาติ สูงกว่า 90% แม้ภาพรวมการแข่งขันรุนแรงแต่ธุรกิจมีการเติบโต

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : bangkokbiznews.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.cbre.co.th