ธปท.เตรียมเจาะลึกหนี้ครัวเรือนระบุ ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเกษตรกร มีรายได้ตกต่ำมาระยะหนึ่งแล้ว และผู้มีหนี้ที่ต้องผ่อนส่งหนี้เกิน 40% ของรายได้เป็นกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาผ่อนส่งไม่ไหว ขณะที่ติดตามภัยแล้งซ้ำเติมรายได้เกษตรกร และภาพรวมเศรษฐกิจ ส่วนการออก พ.ร.บ.กำหนดอัตราดอกเบี้ยของดีเอสไอนั้น เบื้องต้นไม่ควรใช้กับสถาบันให้กู้ในระบบ นายจิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ว่าการ ธปท.ได้สั่งการให้มีการศึกษาเจาะลึกถึงหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพราะหนี้ครัวเรือนกระทบใน 2 ส่วน คือ ผลต่อสถาบันที่ให้กู้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และอีกส่วนคือ กระทบต่อครัวเรือน และทิศทางการบริโภคของประเทศ “ธปท.จะศึกษาในส่วนของผลกระทบต่อครัวเรือน และทิศทางการบริโภคของประเทศเพิ่มเติม โดยแยกเป็นหนี้ครัวเรือนตามระดับรายได้ของผู้กู้ เพราะส่งผลต่อสถาบันให้กู้ในขณะนี้ เท่าที่รับทราบยังไม่มีผลกระทบต่อฐานะการดำเนินการและฐานะการเงิน และเท่าที่มีการศึกษาใน ขณะนี้ ผู้ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ ผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะข้อแรกมีความจำเป็นในการกู้ยืมสูง ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีโอกาสสูงกว่าคนที่มีรายได้สูง และข้อที่ 2 ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา รายได้ของคนกลุ่มนี้ถูกกระทบมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รายได้ของเกษตรกรอ่อนแอมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนนี้ ธปท.ต้องศึกษาให้เข้าใจ และวางมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลต่อไป” โฆษก ธปท.กล่าวต่อว่า อีกจุดที่น่าเป็นห่วงที่จะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวคือ ผู้กู้ที่มีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนส่งมากกว่า 40% ของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งตามปกติเมื่อภาระหนี้มาถึงจุดนี้ถือเป็นจุดเสี่ยง โดยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินจะไม่ให้กู้เพิ่มขึ้นอีก เพราะเห็นว่าหากมีหนี้สินเกินกว่านี้จะรับภาระไม่ไหว ทั้งนี้ ล่าสุด หนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาต่อจีดีพีอยู่ที่ 85.9% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูง แต่อย่างไรก็ตาม สินเชื่ออุปโภคและบริโภคในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น โอกาสที่หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ไตรมาสแรกปีนี้ที่จะประกาศสิ้นเดือนนี้ มีโอกาสที่จะทรงตัวหรือไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นไปได้
ต่อข้อถามที่ว่า ภาวะภัยแล้งและการเลื่อนการปลูกพืชออกไปในขณะนี้จะมีผลต่อรายได้เกษตรกร และส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายจิรเทพกล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบของภัยแล้งต่อการขยายตัวโดยรวมของเศรษฐกิจของประเทศ และรายได้ของเกษตรกร เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในอนาคต ส่วนแนวทางการออก พ.ร.บ.การห้ามเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และกระทรวงยุติธรรม จะกำหนดเป็นกฎหมายไม่ให้สถาบันการเงินเก็บอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมในอัตราเกินกว่า 15% ต่อปี นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโสสายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากเป็นของกระทรวงยุติธรรม แต่ในเบื้องต้นคาดว่า คงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้ยืมในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เพราะส่วนนี้มีกฎหมายต่างหากในการกำกับดูแล และมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม หากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันหรือมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ธปท.คงจะมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์