คลังเร่งทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันลงทุนซ่อมสร้างถนน-บริหารจัดการน้ำรวมมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ปั๊มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งเป้าภายในปีงบประมาณ’58 ต้องได้หมื่นล้านบาท ด้านกสทช. ไฟเขียวให้คลังยืมเงิน 1.43 หมื่นล้านบาท โดย ไร้ดอกเบี้ย จากกองทุน กสทช. ตามนโยบายคสช.ทดแทนการกู้เงินบางส่วน นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า โครงการลงทุนโครงการซ่อมสร้างถนน และบริหารจัดการน้ำ วงเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท มีการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะทำสัญญาได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีงบประมาณ 2558 นี้

ทั้งนี้การกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว ได้มีการกู้มาแล้ว 3,000 ล้านบาท และจะเริ่มมีการเบิกจ่ายภายในเดือนนี้เป็นต้นไป ซึ่ง สบน. จะประเมินการเบิกจ่ายเงินกู้ก้อนแรก และจะได้วางแผนกู้เงินก้อนที่สองจากสถาบันการเงินต่อไป สำหรับแผนที่ได้ทำไว้โครงการทั้งหมดจำนวน 8 หมื่นล้านบาทดังกล่าว เป็นโครงการขนาดเล็กที่ดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ภายในปีงบประมาณ 2558 จะมีการเบิกเงินกู้ลงทุนทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2559 อีก 5 หมื่นกว่าล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 อีก 7,000 ล้านบาท นายธีรัชย์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจติดตามแผนการลงทุนของกระทรวงคมนาคมว่าโครงการไหนทำได้ไม่ได้ตามแผน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีโครงการลงทุนรถไฟรางคู่ของกระทรวงคมนาคมบรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และในบางส่วนของเส้นทางรถไฟรางคู่ยังออกแบบไม่เสร็จ โดย สบน. ได้ทำเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมให้เร่งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการโครงการลงทุนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้สบน. ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อลงทุนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 3 ที่เหลือก้อนสุดท้ายประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งเซ็นสัญญาเงินกู้ระยะที่ 2 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งญี่ปุ่นสนใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้จนสิ้นสุดโครงการ สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 อยู่ที่ 5.77 ล้านล้านบาท หรือ 43.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) โดยหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการกู้ของรัฐบาลเพื่อการขาดดุลงบประมาณ 2558 สบน.คาดว่าหนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณจะอยู่ที่ 44-45% ของจีดีพี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมกสทช.มีมติเห็นชอบให้แก่กระทรวงการคลัง กรณียืมเงิน 14,300 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เพื่อนำไปใช้แทนเงินกู้ บางส่วนสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ และระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน โดยสำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างทำแผนงาน เพื่อกำหนดว่าจะต้องส่งงบประมาณที่ยืมไปคืนให้ คณะกรรมการบริหารกองทุนกทปส. ได้เมื่อไหร่ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณของกสทช. สำหรับการอนุมัติ จะสอดคล้องตามประกาศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ฉบับที่ 80/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ข้อ 6 ส่งเสริมและสนับสนุน ด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงิน กองทุน กทปส. เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตามการให้ยืมครั้งนี้ไม่มีดอกเบี้ย จากปัจจุบันกองทุน กทปส. มีงบประมาณ กว่า 19,000 ล้านบาท การให้กระทรวงการคลังยืมไปครั้งนี้ สำนักงบประมาณจะต้องทำแผนการคืนเงินมาให้ กสทช. ซึ่งโครงการกองทุน กทปส. ตอนนี้ ทาง คสช. สั่งระงับทุกโครงการไว้ทำให้เงินในกองทุนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ “โดยเหตุผลที่ให้ยืม เนื่องจากมีเงินค้างอยู่ในบัญชีกองทุน กทปส. มานาน หากไม่นำไปลงทุน ก็ไม่ก่อให้เกิดสร้างงาน หรือเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ซึ่งกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงอนุมัติ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องส่งคืนเงินกลับมาในระยะเวลาที่กำหนด กสทช.จึงเห็นว่า ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ในระยะเวลา 3 ปีนี้ เช่น ในปี 2558 หากมี การเบิกจ่ายเงินตามงวดงานที่เกิดขึ้นในโครงการใดๆ เมื่อมีการลงนามสัญญาแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินในปี 2559 หรือ ปี 2560 ซึ่งการกู้เงิน 14,300 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยนั้น เพราะมองว่า ไม่ได้มีการนำไปแบ่งปันผลเหมือนกองทุนหน่วยงานอื่นๆ แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าจะได้เงินคืน ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นผู้ทำสัญญากับ กสทช.” เลขาธิการ กสทช. กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก : แนวหน้า