fengshui
บทความจาก อ.ตะวัน เมื่อพูดถึงสินค้าหรูหรา แบรนด์เนม มีระดับมีรสนิยม ที่เราคุ้นๆกัน หลายๆท่านก็คงนึกถึงแบรนด์อย่าง หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) เฮอร์เมส (Hermes) หรือ ปาเต๊ก ฟิลลิปส์ (Patek Philippe) หรือแม้กระทั่ง โรเล็กซ์ (Rolex) ที่ถือว่าเป็นยี่ห้อหรือตราสินค้าที่เรารู้จักกันดี ความน่าสนใจก็คือทั้งที่กระเป๋าเองก็ใช้แค่ใส่ของ นาฬิกาก็ใช้แค่ดูเวลา แต่เพราะอะไรเราถึง “ยอมจ่าย” ในราคาที่แพงกว่าประโยชน์ใช้สอยของตัวสินค้าเองอีกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ แน่นอนว่า “คุณค่า” (Value) ที่ตัวสินค้าหรือแบรนด์นั้นได้ใช้เวลาสร้างขึ้นมานับหลายสิบหรือบางแบรนด์มากกว่า 100 ปี ก็เป็นส่วนสำคัญ แต่เมื่อมองในมุมมองของศาสตร์ฮวงจุ้ยเราก็พบว่ามี “จุดร่วม” สำคัญที่เราพบ โดยเฉพาะในเรื่องของการตกแต่งร้านค้าหรือโชว์รูม ของสินค้าในแบรนด์ต่างๆที่ได้กล่าวมานี้
เพราะอะไรเราถึงยอมจ่ายให้สินค้าที่มีอรรถประโยชน์เหมือนกัน ในราคาที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล ฮวงจุ้ยก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลเช่นเดียวกัน
โดยเมื่อเรามองย้อนกลับไปเรื่องของ “เจี่ยโหวงเฮ้ง” หรือ วิชา “5 ธาตุแท้” ที่เป็นวิชาแม่บทของอภิมหาปรัชญาของชาวจีน ซึ่งรวมไปถึงวิชาฮวงจุ้ยเองด้วย เราก็จะพบว่า
พลังธาตุที่เสริมเรื่องของความหรูหรา เลอค่า โดดเด่น นั้นตรงกับพลังของ “ธาตุทอง” (Metal Element) ได้แก่ลักษณะของ สีออกโทนขาว เงิน ทอง พื้นผิวที่มีความสุกสว่าง มีความมันวาว เป็นประกายระยิบระยับ รูปทรงกลม โค้ง รี หรือแหลมเป็นแฉก ความเรียบง่าย ความเฉียบคม ฉับไวหรือดูทันสมัย - สิ่งเหล่านี้ล้วนแทนพลังของ “ธาตุทอง” หากเมื่อเราใช้การออกแบบตกแต่งโชว์รูมเป็นลักษณะที่ได้กล่าวมา ก็จะช่วยเสริมให้ตัวสินค้าหรือบริการของเรานั้นดูหรูหรา เลอค่า ทำให้ขายสินค้าหรือบริการได้มีราคา ในขณะเดียวกัน สินค้าหรือบริการที่หรูหรานั้น มักจะมีความเป็น “เอกลักษณ์” ที่ไม่ซ้ำใคร มีจำนวนหรือปริมาณที่น้อยหรือจำกัด เพื่อทำให้ผู้ที่ได้ครอบครองรู้สึกว่าเป็นคนที่พิเศษ ไม่ซ้ำใคร เช่นสินค้าที่ผลิตเฉพาะรุ่น เฉพาะช่วงเวลาเป็นต้น (Limited Edition) หากพ้นไปแล้วไม่สามารถหาซื้อได้อีกแล้ว ตามศาสตร์ฮวงจุ้ยเรามองความเป็น “เอกลักษณ์” นี้เหมือนกับ “ธาตุไม้” เพราะต้นไม้ต่อให้ชนิดหรือพันธุ์เดียวกัน ก็ไม่เคยมีต้นไหนที่เหมือนกัน หรือ ต่อให้ในต้นเดียวกัน ก็ไม่สามารถหาแม้กระทั่ง “ใบไม้” ที่รูปทรงเหมือนกันได้ เราจึงมอง “ธาตุไม้” เหมือนกับเป็น “งานศิลปะ” ที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างประณีต พิถีพิถัน ละเอียดลออ โดย
“ธาตุไม้” นั้นมีลักษณะของการใช้โทนสีสันแบบลายไม้ หรือมีไม้จริงเข้ามาแทรกเป็นส่วนประกอบ มีการใช้ของตกแต่งหรือพื้นผิวรูปทรงที่เป็นธรรมชาติ-
ในมุมมองของศาสตร์ฮวงจุ้ย ธาตุทอง แทนความโดดเด่น หรูหรา เลอค่า ส่วนธาตุไม้ แทนความมีเอกลักษณ์เฉพาะ ความประณีต ความสวยงาม
เมื่อเราลองมาดูการตกแต่งร้านของ “หลุยส์ วิตตอง” (Louis Vuitton) เราก็จะพบว่าภาพรวมของร้านโดยส่วนใหญ่จะใช้สีสันแบบ “ธาตุทอง” ตั้งแต่ตัวหนังสือป้ายชื่อของร้าน ที่มักจะใช้เป็นสีทองระยิบระยับคู่กับตัวหนังสือที่เรียบง่ายให้มองเห็นโดดเด่นแต่ไกล การตกแต่งในร้านที่จะคลุมการใช้สีออกโทนขาวเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจมีการแทรกวัสดุโลหะมันวาวเช่นชั้นวางสินค้า หรือผนังบางส่วน เพื่อเสริมพลังของธาตุทองเข้าไปด้วย หรือในหลายทำเลก็มักจะมีการแทรกรูปทรงโค้งกลมเข้าไปไม่ว่าจะเป็นกับชั้นวางสินค้า ผนัง หรือ ฝ้าเพดาน อย่างไรก็ตามก็ยังมีการแทรกพลัง “ธาตุไม้” โดยเลือกใช้พื้นไม้ โชว์ลวดลายไม้ชัดเจน หรือใช้กับงานตกแต่งผนังในบางจุดด้วย
การตกแต่งโชว์รูมของ “หลุยส์ วิตตอง” (Louis Vuitton) ที่เน้นความเป็น “ธาตุทอง” มากอย่างโดดเด่นเห็นได้ชัดเจน
เปรียบเทียบการตกแต่งร้านของ “เฮอร์เมส” (Hermes) ก็จะเห็นว่ามีกลิ่นอายของ “ธาตุทอง” แฝงอยู่เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ป้ายของชื่อร้านที่ใช้โทนสีเงินสีทองคู่กับตัวหนังสือที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับ หลุยส์ วิตตอง โดยการออกแบบโทนสีในโชว์รูมที่เน้นโทนสีขาว แทรกร่วมไปกับรูปทรงของชั้นแสดงสินค้า หรือผนังที่โค้งมน มีพลังของ “ธาตุทอง” เสริมความหรูหรา เลอค่า ควบคู่ไปกับการใช้อุปกรณ์ตกแต่งแบบที่ทำจากไม้จริง ขับพลังของ “ธาตุไม้” ที่ช่วยเน้นความเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความประณีต ออกมาได้ โดยเฮอร์เมสจะเน้นการตกแต่งแบบ “ธาตุไม้” มากกว่าหลุยส์ วิตตอง นั่นก็เพราะสินค้าของเฮอร์เมสนั้นมีความเป็นสินค้า Household มากกว่า จึงเน้นความอบอุ่นที่แฝงมากับธาตุไม้มากกว่า
การตกแต่งโชว์รูมของ “เฮอร์เมส” (Hermes) ที่เน้นความเป็น “ธาตุไม้” มากกว่า หลุยส์ วิตตอง แต่ก็แฝงพลังของ “ธาตุทอง” อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน
หันมาดูโชว์รูมนาฬิกาหรูอย่าง “ปาเต๊ก ฟิลลิปส์” (Patek Philippe) เองก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ป้ายร้านหรือโลโก้ร้านใช้สีสันโทนเงินหรือทองประกายระยิบระยับคู่กับตัวหนังสือที่อ่านได้เรียบง่ายเช่นเดียวกันกับ หลุยส์ วิตตอง ไม่มีผิดเพี้ยน แต่การตกแต่งภายในโดยส่วนใหญ่จะเน้นการใช้ความเป็น “ธาตุไม้” คือการใช้ไม้จริงหรือลวดลายไม้ประดับในตัวผนังหรือชั้นวางสินค้ามากกว่า เพราะแสดงความมี “เอกลักษณ์” หรือความเป็น “งานศิลปะ” ที่ถือว่าเป็นจุดเด่นมากของตัวปาเต๊กเอง อย่างไรก็ตามก็ยังเน้นการตกแต่งภายในแบบ “ธาตุทอง” ได้แก่สีสันโทนขาว เงิน ทอง ประกอบเสริมเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความหรูหรา เลอค่า นั่นเอง
โชว์รูมของ “ปาเต๊ก ฟิลลิปส์” (Patek Philippe) ที่เน้นความเป็น “ธาตุไม้” ออกมาอย่างชัดเจน เพราะแสดงถึงความเป็นงานศิลปะมีเอกลักษณ์ แต่ก็ยังแฝงพลังของ “ธาตุทอง” อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน
และแน่นอนว่าเมื่อเรามาดูนาฬิกาหรูที่คนไทยนิยมมากที่สุดอย่าง “โรเล็กซ์” (Rolex) เอง ก็หนีไม่พ้นการจัดหรือตกแต่งโชว์รูมโดยใช้ลักษณะแบบ “ธาตุทอง” และ “ธาตุไม้” ผสมผสานกัน ทั้งป้ายชื่อร้านที่ใช้สีทองมันวาวระยิบระยับกับตัวหนังสือที่เรียบง่าย โดดเด่นเห็นได้แต่ไกล เสริมพลัง “ธาตุทอง” ส่วนการตกแต่งภายในที่จะเน้นไปทาง “สีเขียว” ที่นอกจากจะเป็นสีประจำของแบรนด์แล้ว ก็ยังสัมพันธ์กับพลัง “ธาตุไม้” อีกด้วยนอกจากนั้นการเลือกใช้ตู้โชว์สินค้าก็ยังเน้นการใช้ไม้จริงเป็นส่วนประกอบอย่างชัดเจน
โชว์รูมของ “โรเล็กซ์” (Rolex) ก็ยังเน้นความเป็น “ธาตุทอง” และ “ธาตุไม้” ออกมาอย่างโดดเด่นและใกล้เคียงกัน
จากที่ได้ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่านอกจากเรื่องของการพัฒนาตัวสินค้า บริการ หรือกระทั่งตราสินค้า ให้เป็นที่ยอมรับในระยะยาวเพื่อสร้างมูลค่าหรือยกระดับความหรูหรา เลอค่า ให้กับสินค้าหรือแบรนด์ได้แล้ว ศาสตร์ของฮวงจุ้ยเองก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมให้สินค้าและบริการของท่าน สามารถยกระดับขึ้นไปเป็นแบรนด์ในระดับสูงได้เช่นเดียวกัน- ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.ตะวัน