“ประยุทธ์” สั่งเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน นายกฯสั่งสร้างจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อนประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เริ่มต้นจากการจัดระเบียบข้อมูลดัชนีชี้วัดประเทศให้เป็นข้อมูลชุดเดียวป้อนให้สถาบันจัดอันดับนำไปใช้ไม่ผิดเพี้ยน หลังพบขีดความสามารถการแข่งขันไทยลดลงต่อเนื่อง 10 ปี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพข. ได้วางเป้าหมายที่จะสร้างรากฐานระยะยาวให้ประเทศ พร้อมให้แก้ไขตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย เพื่อให้สถาบันจัดอันดับการแข่งขันของประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันพัฒนาการบริหารจัดการระหว่างประเทศ (IMD) เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) และธนาคารโลก ได้จัดอันดับดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น ภายหลังจากพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยขยับลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีปัญหาการเมือง และปัญหาการแตกแยกทางความคิดของคนไทย พร้อมกันนี้ ภายใต้ กพข.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 6 ชุด เพื่อร่วมกันทำงานและจัดการฐานข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งกำหนดแนวทางการสื่อสารทำความเข้าใจกับภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลการจัดอับดับความสามารถในการแข่งขันปี 2558 และเตรียมประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาการประกาศผลโดยเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม และธนาคารโลกในระยะต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องศึกษากระบวนการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละสถาบันจัดอันดับ และประสานงานกับแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำข้อมูล ตลอดจนภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการตอบแบบสำรวจความเห็น
อย่างไรก็ตาม การทำให้ลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแก้ไขจุดอ่อนของข้อมูล แต่ต้องวางรากฐานที่แท้จริงของโครงสร้างด้านต่างๆของประเทศให้ดีขึ้นด้วย ประกอบด้วย ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ด้านการพัฒนาเชิงกายภาพ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ และการพัฒนากระบวนการทางศุลกากร ซึ่งทุกด้านนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลแล้ว มีผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมทำงาน โดยในทุกชุดของคณะกรรมการจะมีตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วม เพื่อให้มีผลผลักดันไปสู่การปฏิบัติ เพราะ สศช.จะนำแนวทางที่เกิดจากการสรุปไปใส่ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย “การทำงานของ กพข.ถ้ามองระยะสั้นเป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นชุดเดียวของประเทศก่อน เวลาสถาบันจัดอันดับเข้ามาเก็บข้อมูล ก็จะมีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันนำเสนอได้ทันที ขณะเดียวกันจะหาจุดอ่อนของดัชนีชี้วัดที่ไทยมีปัญหาเพื่อแก้ไข และกำหนดเป้าหมายกันให้ชัด ซึ่งต้องเสริมจุดแข็งและปิดจุดอ่อนให้ได้ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ กพข.ครั้งต่อไปวันที่ 24 ก.ค.นี้”.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์