ปตท.ร่วมงานประชุมเวิลด์แก๊ส ที่ฝรั่งเศส เปิดโต๊ะเจรจาผู้ผลิตพลังงาน เพื่อเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และแอลเอ็นจีมาสำรองใช้ในประเทศไทยในอนาคต เพื่อทดแทนน้ำมัน เสนอรัฐบาลอนุมัติงบลงทุน 2 แสนล้านบาท ก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำที่พม่าและในไทย รวมทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยระหว่างการนำคณะสื่อมวลชน ไปร่วมในการประชุมและนิทรรศการ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติโลก 2015 หรือเวิลด์แก๊ส ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆนี้ว่า งานดังกล่าวเป็นงานประชุมที่ใหญ่ที่สุดในวงการก๊าซธรรมชาติทั่วโลก มีการจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี จึงได้รับความสนใจจากภาคเอกชนมาร่วมออกบูธแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตก๊าซธรรมชาติ และเป็นการติดตามรูปแบบการเปลี่ยนถ่ายการใช้พลังงานครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


สำหรับประเทศไทย ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมงาน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสวงหาโอกาส ในการนำเข้าก๊าสธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าสธรรมชาติเหลว (แอล-เอ็นจี) ที่เป็นเชื้อเพลิงในอนาคต พร้อมกับพบปะเจรจาธุรกิจกับผู้บริหารของบริษัทผู้นำด้านพลังงานอีก 600 บริษัท จาก 100 ประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฯลฯ ทั้งนี้ ในที่ประชุมครั้งนี้ ได้มีการประกาศจุดร่วมกันว่า “โลกกำลังเข้าสู่ยุคการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มตัว” เพราะหากมองย้อนไปในอดีตพบว่า มนุษยชาติเรามีวิวัฒนาการการใช้พลังงานเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่การเริ่มใช้ไม้ ฟืน ถ่านไม้ มาเผาเพื่อให้ได้พลังงานความร้อน และแสงสว่าง ต่อมาเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็มีการใช้ถ่านหินมาขับเคลื่อนเครื่องจักรไอน้ำ เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้า จนกระทั่งมีการขุดน้ำมันขึ้นมาใช้เป็นพลังงานของโลก “ทำให้ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า เมื่อแหล่งน้ำมันที่ทยอยหมดลง รวมถึงเกิดปัญหาการปล่อยมลพิษที่สูง ทำให้ก๊าซธรรมชาติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อทดแทนน้ำมัน และจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจัยที่ทำให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นพลังงานหลักของโลกคือ มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆที่เป็นหินดินดานเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นของเหลว ส่งผลให้การขนย้ายทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งพลังงานที่สร้างมลพิษต่อโลกน้อยที่สุด” กรณีดังกล่าว สอดคล้องกับกระแสโลกที่กำลังตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นได้จากการประชุมสหประชาชาติปลายปีนี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส ที่จะมีการหยิบประเด็นภาวะโลกร้อนขึ้นมาหารือ ซึ่งหัวข้อดังกล่าว ได้ทำให้ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) มีการเรียกร้องให้ใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินเพื่อลดปัญหามลภาวะ ขณะเดียวกัน ในการร่วมงานประชุมเวิลด์แก๊ส ครั้งนี้ ปตท.มีโอกาสในการเจรจาแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานของประเทศอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าก๊าซธรรมชาติของ ปตท.มีเพียง 220 ล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้ มีถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยปีนี้คาดว่าก็จะมีความต้องการ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ ปัจจุบันปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆในประเทศทำได้ยากขึ้น เพื่อการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ที่หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี) เพิ่มขึ้น ปตท.จึงต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่สะดุดจากภาวะขาดแคลนพลังงาน เพราะขณะนี้การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ก็ยังต้องชะลอออกไป จึงต้องวางแผนนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต


“ผมได้เจรจากับกลุ่มบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ถึงแผนจัดหาแหล่งพลังงานแอลเอ็นจีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การหารือกับบริษัท เชฟรอน จำกัด บริษัท โททาล จำกัด และบริษัท เชลล์ จำกัด และมีการหารือในการขยายความร่วมมือ เพื่อขอเพิ่มการนำเข้าแอลเอ็นจีกับบริษัทในกลุ่มของประเทศกาตาร์ เพื่อขอเพิ่มปริมาณจัดส่งแอลเอ็นจีให้กับไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย” ขณะเดียวกัน ปตท.ยังมีแผนลงทุนสร้างคลังเก็บแอลเอ็นจีเพิ่มเติม จาก 35 ล้านตันต่อปี เป็น 50 ล้านตันในอนาคต โดยแบ่งเป็นการสร้างคลังบนบกในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และเตรียมเสนอ ขอให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบแผนลงทุนการสร้างคลังแอลเอ็นจี และหน่วยแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นแอลเอ็นจีรูปแบบลอยน้ำ หรือเรือสำรองก๊าซธรรมชาติกลางทะเลอีก 2 ลำ ลำละ 3 ล้านตัน ที่ ประเทศพม่า และที่จังหวัดสงขลา ร่วมกับแผนลงทุนท่อก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 คาดว่าจะใช้งบลงทุนรวม 200,000 ล้านบาท เพื่อสำรอง แอลเอ็นจีไว้ใช้ในประเทศ เป็นการแก้ปัญหาการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่าที่ปิดซ่อมประจำปีทุกๆปี รวมถึงเป็นแหล่งสำรองพลังงานของประเทศในระยะยาว.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์