นางศรีวณิก หัสดิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือภัยแล้งว่า ทุกนิคมได้เจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งที่อาจรุนแรงมากขึ้น ส่วนมาตรการใช้น้ำจากบ่อบาดาลจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ กนอ.จะใช้แก้ปัญหา เพราะอาจกระทบต่อการทรุดตัวของแผ่นดิน ภัยแล้งขณะนี้ยังไม่รุนแรงจนทำให้โรงงานในนิคมเดือดร้อนจนถึงระดับที่ต้องใช้น้ำบาดาล รวมทั้งโรงงานในปัจจุบันได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตไปสู่การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงได้ แต่ทั้งนี้ หากโรงงานในนิคมรายใดต้องการใช้น้ำมากขึ้นกว่าปกติ ก็ต้องแจ้งให้ กนอ.ทราบ สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด คือนิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่บริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด ผู้บริหารจัดการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ และมั่นใจว่าจะสามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งปีนี้ไปได้ แต่ถ้าถึงสิ้นสุดฤดูฝนปริมาณน้ำยังเข้าอ่างเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย ก็ต้องเร่งวางแผนรับมือภัยแล้งในปีหน้า โดยการหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาว ได้มีการหารือในเรื่องสร้างโรงงานเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะต้องลงทุนสูงมาก ทำให้น้ำมีราคาแพง หากสร้างแล้วใช้งานไม่เต็มที่ก็จะเกิดการขาดทุน “ในประเด็นเรื่องการพัฒนานิคมรูปแบบใหม่ๆ ล่าสุด กนอ.ได้ปรับปรุงกฎหมายของ กนอ. ให้สามารถสร้างนิคมแนวดิ่งได้ หรือการทำคอนโดอุตสาหกรรม เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ใช้พื้นที่การผลิตไม่มาก ไปเช่าพื้นที่ในแต่ละชั้นเพื่อสร้างโรงงาน ช่วยประหยัดค่าก่อสร้าง ลดต้นทุนสาธารณูปโภคส่วนกลาง โดยล่าสุด นิคมอัญธานีก็มีความสนใจที่จะสร้างคอนโดอุตสาหกรรมแนวนี้ และนิคมอมตะก็ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นสร้างนิคมแนวตั้งขึ้นแล้ว มีความสูง 3-4 ชั้น”.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์