ครม.ยันกรีซกระทบไทยน้อย
ธปท.ชี้เศรษฐกิจฟื้นช้า “ปัจจัยลบรุม-คนไม่เชื่อมั่น”
ครม.หารือปัญหากรีซ ยันไม่ห่วงเพราะเราไม่ได้ค้าขายโดยตรง ฝั่งตลาดหุ้นมองผลกระทบไม่มาก ขณะที่ตลาดเงินยันเตรียมการไว้พร้อมรับความผันผวนเงินยูโรแล้ว แบงก์ชาติ มึนเศรษฐกิจไทยซึมต่อเนื่อง ทำอย่างไรคนไทยยังไม่ยอมเชื่อมั่น จับตาปัจจัยลบซ้ำเติมการขยายตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (30 มิ.ย.) กระทรวงการคลังได้รายงานสถานการณ์ในประเทศกรีซว่า คงมีผลต่อประเทศไทยไม่มากนักเนื่องจากเราไม่ได้ค้าขายกับกรีซโดยตรง ส่วนผลกระทบน่าจะเป็นเรื่องที่ไทยทำการค้ากับสหภาพยุโรป โดยรวมถึงเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่ากรีซจะยังอยู่ ในสหภาพยุโรปหรือไม่
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ได้มีการหารือถึงกรณีที่ประเทศกรีซ โดยที่ประชุมรับทราบว่าขณะนี้กรีซอยู่ระหว่างการทำประชามติว่าจะยอมรับเงื่อนไขของประเทศเจ้าหนี้และธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือไม่ ซึ่งหากประชาชนลงมติว่าไม่ยอมรับก็เป็นไปได้ว่ากรีซจะออกจากการเป็นสมาชิกยูโร โดยมองว่าผลกระทบที่จะมีต่อไทยจำกัด เนื่องจากกรีซมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพียง 8 ล้านล้านบาท และความกังวลในเรื่องหนี้สินของกรีซ ตลาดมีการรับรู้ปัญหานี้ไปพอสมควรแล้ว
สำหรับผลต่อตลาดหุ้นไทยนั้น นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์การแก้ปัญหาหนี้กรีซจะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากประเทศไทยกับกรีซไม่มีธุรกรรมใดๆ ร่วมกันที่มีนัยสำคัญ และการคาดการณ์ว่ากรีซจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) นั้น เป็นการคาดการณ์ ที่นักลงทุนรับทราบข่าวมาพอสมควรแล้ว จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก
ส่วนความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศ ไทยนั้น นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายตลาดการเงิน กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ตลาดการเงินโลกน่าจะยังมีความผันผวนเป็นระยะๆ จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในกรีซ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมกับค่าเงินยูโร ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินไทย
ทั้งนี้ วันเดียวกัน ธปท.ได้มีการแถลงภาวะ เศรษฐกิจการเงินรายเดือน โดยนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และเปราะบาง โดยหากมีความ เสี่ยงเพิ่มเติมเข้ามากระทบก็อาจจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงได้ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงด้านลบที่ ธปท.จับตามี 4 ด้าน คือ 1.เศรษฐกิจโลกยังมีการฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะจีนและอาเซียน 2.ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของตลาดเงินโลกจากปัญหาหนี้สินของประเทศกรีซ ซึ่งแม้ว่าผลกระทบส่วนหนึ่งตลาดจะทราบและรับรู้ไปแล้ว แต่ยังคงมีพัฒนาการไปในทางลบได้มากกว่านี้ 3.ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าที่ ธปท.คาด หากภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าปกติ
ขณะที่ความเสี่ยงด้านที่ 4 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าและเปราะบาง คือ ความกังวลของภาคเอกชนต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในทุกเรื่องที่ผ่านมา รวมทั้งความกังวลต่อรายได้ในอนาคต และหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เอกชนไม่ลงทุน ซึ่งความเสี่ยงข้อนี้น่าจะเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากที่สุด และที่ผ่านมา การลงทุนในโครงการภาครัฐ แม้จะเริ่มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวต่อว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ค.นั้น การส่งออก การนำเข้า การใช้จ่ายภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนยังคงติดลบต่อเนื่อง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในเดือน พ.ค.การส่งออกของไทยหดตัวในเกือบทุกหมวด ส่งผลให้ขยายตัวติดลบ 5.5% มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 18,288 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการนำเข้าที่หดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาขยายตัวติดลบ 20.3% มีมูลค่า 14,077 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่อง โดยเดือน พ.ค.เกินดุลสูงถึง 4,151 ล้านเหรียญฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,127 ล้านเหรียญฯ
“การใช้จ่ายเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวติดลบ 0.4% ส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย โดยรายได้ภาคเกษตรยังคงติดลบ 12% ขณะที่ภาคนอกการเกษตรรายได้ทรงตัว การลงทุนติดลบเช่นกัน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวติดลบ 0.4% ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวลดลงต่อเนื่อง โดยติดลบ 7.6% อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการลงทุนของรัฐเพิ่มขึ้น 45.2% และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือน พ.ค.ขยายตัวได้สูงถึง 38.2% แต่การเพิ่มขึ้นของ 2 ภาคนี้ยังไม่สามารถทดแทนภาคที่ปรับตัวลดลงได้”.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.