ทุนญี่ปุ่น (ยัง) ไม่ทิ้งไทย
เรื่อง : นพพร วงศ์อนันต์ และ ชญานิจฉ์ ดาศรี จาก Forbes Thailand
ท่ามกลางความไร้เสถียรภาพทางการเมืองไทยในรอบสิบปี ความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจนับ ล้านล้านบาท และปัจจัยลบอื่นๆ ล้วนเป็นเหตุให้นักลงทุนจากญี่ปุ่น (และเกาหลีใต้) ต้องชั่งใจเลือกระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อ เนื่อง มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง
ประเทศไทยจะเป็นขวัญใจของนักลงทุนญี่ปุ่นได้อีกนานแค่ไหน? หลังมหาอุทกภัยปี 2554 ในไทย ข่าวการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ต้องการกระจายความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง การบริหารงานที่ผิดพลาดในการรับมือภัยธรรมชาติ ค่าแรงที่สูงขึ้นและจำนวนแรงงานที่หดหายลงในประเทศไทย
ผลสำรวจแนวโน้มทางธุรกิจของบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นในไทย 393 แห่ง เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่า 39% ของผู้ตอบระบุว่า ได้ขยายธุรกิจจากไทย หรืออยู่ระหว่างวางแผนขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้าน โดย 4 ปัจจัยที่เกิดขึ้นในไทย ที่ทำให้มีแผนขยายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ค่าแรงที่สูงขึ้น (22%) กระจายความเสี่ยงเนื่องจากปัจจัยทางการเมือง (20%)
"เริ่มมีสัญญาณให้เห็นว่าเราไม่ได้รับทุนใหม่จากญี่ปุ่น เพราะหันไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น แม้เราอาจไม่ได้สูญเสียการลงทุนฐานเดิมไป" พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ Forbes Thailand พร้อมเสริมว่า การลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นจะเจาะจงในอุตสาหกรรมที่ไทยมี supply chain ครบวงจร
ญี่ปุ่น คือ นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา จวบจนปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่ลงทุนในไทยสูงสุด แม้ว่าในปี 2557 ตัวเลขขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงเกือบครึ่งจากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.508 แสนล้านบาทจากจำนวน 420 โครงการ เทียบกับปี 2556 ที่มีมูลค่า 3.1 แสนล้านบาทจากจำนวน 684 โครงการ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นทั่วโลก เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยน และจำนวนเงินลงทุนของปี 2556 ที่สูงผิดปกติจากการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นผ่านการควบรวมกิจการ ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าธุรกรรมรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเอเชียในภาคการเงินการธนาคาร
Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) กลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลก มองเห็นศักยภาพทางธุรกิจในจุดนี้ ตัดสินใจใช้เงิน 1.7 แสนล้านบาทซื้อหุ้น 72% ในธนาคารกรุงศรีอยุธยาจาก GE Capital เมื่อปี 2556 เพื่อใช้กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินแก่บรรดาธุรกิจของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย อินโดจีน และเมียนมาร์
Noriaki Goto ประธานและ CEO ของกรุงศรี กล่าวว่า ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักธุรกิจ SMEs จากญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น แทนกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ดังในอดีต ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ที่ส่งเสริมให้ SMEs จากญี่ปุ่นไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
"กรุงศรีเห็นแนวโน้มของผู้ประกอบการ SMEs ญี่ปุ่นที่ต้องการจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น พวกเขากำลังมองหาคู่ค้าทางธุรกิจที่ไว้ใจได้" Goto กล่าวกับ Forbes Thailand และเสริมว่า เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา กรุงศรีลงนามข้อตกลงร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ตั้งวงเงินสินเชื่อ 35 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของ SMEs ญี่ปุ่นในต่างประเทศ รวมทั้งสาขาของ SMEs ญี่ปุ่นในไทย หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว กรุงศรีพา ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นมาพบคู่ค้าไทย มีผู้เข้าร่วมถึง 120 บริษัทจากทั้งสองฝ่าย
หิรัญญา สุจินัย รักษาการแทนเลขาธิการ BOI กล่าวกับ Forbes Thailand ว่า "อย่าไปกังวลว่าญี่ปุ่นจะย้ายฐาน เขาแค่เปลี่ยนประเภทอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เป็นไปได้ยากที่เยนอ่อนแล้วญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ เพราะค่าแรงญี่ปุ่นสูงมาก อุตสาหกรรม การผลิต เขาออกมาจนแทบหมดแล้ว"
Goto แห่งกรุงศรียังมองว่า ผู้ประกอบการด้านการเงินของญี่ปุ่นยังให้ความสนใจในธุรกิจการเงินของไทย เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตสูง โดยนอกจากกรณีกรุงศรีแล้ว ยังมี Meiji Yasuda กลุ่มประกันยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เข้าซื้อหุ้น 15% ใน บมจ.ไทยประกันชีวิต และกลุ่ม Sumitomo Mitsui Trust ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารในไทย
ด้านพิมลวรรณ แห่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า "ในระยะยาว ความคุ้มค่าแรงงานญี่ปุ่นจะขึ้นอยู่กับโจทย์การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมซึ่งยังคงท้าทายรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเร่งพัฒนาผลิตภาพ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างยั่งยืน"
อ่านฉบับเต็ม "ทุนญี่ปุ่น (ยัง) ไม่ทิ้งไทย" ได้ที่ FORBES THAILAND ฉบับ MAY 2015
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
Photo credit by : ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.forbesthailand.com
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.