แบงก์จับตา"หนี้เสีย"ขยับใกล้ชนเพดาน พบธุรกิจสินค้าอุปโภค-เกษตรน่าห่วง
แบงก์เผยเอ็นพีแอลธุรกิจเอสเอ็มอีด้านอุปโภคบริโภคและภาคเกษตรขยับขึ้น ต้องตั้งสำรองเพิ่ม จับตาใกล้ชิดหาทางช่วยสางหนี้ก่อนจะบานปลาย รับเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยกู้ให้กลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% จากธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธนาคารอาจตั้งสำรองจากต้นทุนสินเชื่อ (เครดิตคอร์ส) ทั้งปีเพิ่มขึ้น 1.4-1.5% จากปัจจุบันตั้งสำรองที่ 1% ซึ่งปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ 0.8-0.9% โดยธนาคารต้องติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้ หากสามารถดูแลและช่วยเหลือได้สำเร็จก็อาจไม่ต้องใช้สำรอง ซึ่งระดับเอ็นพีแอลปัจจุบันอยู่ที่ 2% กว่า จากกรอบเป้าหมายที่ระดับ 2.5% อย่างไรก็ตามยังคงเป้าสินเชื่อปีนี้โต 5-7% "คาดว่าจะโตได้ตามเป้า โดยยังเห็นการขยายตัวในช่วงไตรมาส 2 จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังขอสินเชื่อเพื่อลงทุน ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ค่อนข้างอ่อนแรงจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการอุปโภคและบริโภค ธุรกิจเกี่ยวกับภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องและสั่งสมมากว่า 5 ปี ทำให้ธุรกิจหยุดชะงักขาดสภาพคล่องและชำระหนี้ ทำให้ภาพรวมยอดเบิกจ่ายใช้สินเชื่อในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไม่เติบโตมากนัก" นายธีรนันท์กล่าว
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมของระดับเอ็นพีแอลทั้งระบบธนาคารมีโอกาสขยับขึ้น แต่ในส่วนของธนาคารกรุงไทยยังทรงตัวจากการบริหารจัดการหนี้และการปรับความเสี่ยงของธนาคาร โดยปีนี้จะพยายามควบคุมไม่ให้เอ็นพีแอลเกิน 2% และต้องปรับลดการเติบโตของสินเชื่อลง จากเป้าเดิมที่ 6% เพราะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น "ระดับเอ็นพีแอลของธนาคาร 2 เดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม-มิถุนายน) ลดลงไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน จากการบริหารจัดการหนี้ที่ต้องดูรายละเอียดเอ็นพีแอลอย่างเข้มข้นเพื่อเปรียบเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้รวมถึงต้องมีการติดตามหนี้ของลูกค้าอย่างใกล้ชิดส่งผลให้ระดับเอ็นพีแอลได้ลดลงจากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 ที่มีจำนวน 3,000 ล้านบาทต่อเดือน
"ระดับเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมามีสาเหตุมาจากสินเชื่อรายย่อยเดิม 4 ปี โต 100% ทำให้ระดับเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า รวมถึงตะแกรงความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันได้ปรับให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น" นายวรภัคกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.