นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระบุว่าไทยควรใช้บทเรียนจากกรีซ โดยเฉพาะการทำประชานิยม รวมถึงการใช้นโยบายการคลังที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว


นโยบายการเงินและนโยบายการคลังในการอุดหนุนเศรษฐกิจของกรีซ ผศ.สมประวิน มันประเสริฐ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านโยบายเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่ใช้สกุลเงินเดียวกับประเทศอื่นๆ ทำให้กลไกที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่สามารถช่วยเศรษฐกิจกรีซได้ ส่งผลให้การแก้ปัญหาทำได้ยากเพราะประชาชนเกิดความเคยชิน ส่วนนักการเมืองไม่คุ้นกับนโยบายการคลังที่ค่อนข้างเข้มงวด "ประเทศที่ไม่มีนโนบายการคลังหรือไม่มีกฎหมายที่เข้มข้นจะส่งผลเสียได้ในระยะยาว" ผศ.สมประวิน กล่าว ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เชื่อว่าหลายประเทศรวมทั้งไทยต่างจับตาสถานการณ์กรีซและใช้เป็นบทเรียนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
"กรณีกรีซเป็นบทเรียนของการใช้จ่ายเงินเกินตัวและนโยบายในลักษณะแจกเงิน หรือการมีรัฐสวัสดิการมากเกินไป และไม่สามารถสร้างการเติบโตางเศรษฐกิจได้ทัน เพราะฉะนั้นหนี้จึงพุ่งทะลุ 100-200 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ตรงนี้เองจะเห็นภาพว่าความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจจะส่งให้ต้องมีการปรับตัว ต้องมีการรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง ตรงนี้เองทำให้หลายๆประเทศจับตาดูอยู่ว่าไม่อยากใช้นโยบายแบบนั้นมากเกินไป" นายอมรเทพ ระบุ ส่วนผลกระทบกับไทยนั้นเชื่อว่ามีไม่มาก โดยเงินบาทจะอ่อนค่าลงแต่ไม่รุนแรง ส่วนการส่งออกไม่กระทบนัก เว้นแต่วิกฤตกรีซลุกลามไปยุโรปแต่ปัญหาการส่งออกไปยุโรปในช่วงหลังทำให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวมากพอสมควรและหาตลาดอื่นทดแทนแล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรปไม่นับรวมรัสเซีย หากได้วางแผนล่วงหน้าไว้แล้วก็ไม่น่าจะเปลี่ยนใจ

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.bangkokbiznews.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaipbs.or.th