ผลสรุปที่ดิน ส.ป.ก.ใช้เปิด “พะเยาโมเดล” ได้ทั่วประเทศ
ดูพื้นที่จริง - นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางเดินทางมาดูพื้นที่จริงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ที่นำมาสร้างอาคารหอพักเชิงพาณิชย์ และมีการแก้ปัญหาให้เช่าพื้นที่จาก สปก. จนกลายเป็น “พะเยาโมเดล” ที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ สปก.ที่มีปัญหาแบบเดียวกันนี้
กรณีปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา ที่มีการนำพื้นที่ ส.ป.ก.จำนวนหลายร้อยไร่ ที่ระบุใช้เพื่อเกษตรกรรมแต่ถูกนำไปสร้างอาคารหอพักรองรับการเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยจำนวนร่วม 200 แห่ง จนปัญหาพิพาทกันขึ้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาแก้ไข โดยเฉพาะทาง ส.ป.ก.ต้องส่งมือกฎหมายมาทำให้สิ่งที่ผิดเงื่อนไขที่ดินเกษตรกรรมให้สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีการโอนที่ดิน ส.ป.ก.ที่ใช้ผิดประเภทกลับมาเป็นของ ส.ป.ก.และได้ใช้กฎหมาย ส.ป.ก.ที่มีอยู่แล้วดำเนิน-การจนสามารถทำได้ จึงมีการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.แห่งนี้ ยกให้เป็น “พะเยาโมเดล” เพื่อจะสามารถนำไปใช้ในปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.แห่งอื่นๆ ทั่วประเทศได้ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 ก.ค. นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก.พร้อม คณะได้นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางเดินทางมาที่ เทศบาลตำบลแม่กา เพื่อให้ดูพื้นที่จริงและฟังบรรยายการสรุปปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่นำมาสร้างอาคารหอพักเชิงพาณิชย์ มีการประชุมร่วมกันกับทางจังหวัดพะเยา โดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง ผวจ.พะเยา นายประพันธ์ เทียนวิหาร นายกเทศมนตรีตำบลแม่กา พร้อมเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.พะเยา และเชียงรายมาร่วมประชุมสรุปปัญหาที่ดินดังกล่าวซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชนมาร่วมรับฟังด้วย
นายชูชาติ ผวจ.พะเยา ได้กล่าวว่าถึงปัญหาการใช้พื้นที่ดิน ส.ป.ก.หน้ามหาวิทยาลัยพะเยาที่มีข่าวทางสื่อมวลชนและเป็นประเด็นของสังคมมาโดยตลอด ในวันนี้เมื่อทางคณะเลขาฯและสื่อมวลชนจากส่วนกลางได้เดินทางมาดูในพื้นที่จริงและรับฟังข้อมูลรอบด้าน จะได้รับรู้ปัญหาซึ่งทางจังหวัดร่วมกับทาง ส.ป.ก.ร่วมกับทางเทศบาลตำบลแม่กา และมหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการแก้ไขมาตลอด และหาแนวทางบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างมีระบบมีวิชาการรองรับมีเหตุมีผล ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบและกฎหมายรวมทั้งงานวิจัย จึงมีแนวทางเห็นชอบด้วยกันในการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นการเฉพาะหรือที่เรียกว่าโซนนิ่งในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยเท่าที่จำเป็นโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาได้ประชุมและมีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดขอบเขต สามารถดำเนินการได้นอกเหนือจากทำประโยชน์ในเกษตรกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้มีกฎหมายรองรับไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและสื่อมวลชนมาตลอด
ทางด้านนายสรรเสริญ เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ ส.ป.ก.หน้ามหาวิทยาลัยพะเยาเกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานรวมทั้งประชาชนในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันจนมีแนวทางที่ยอมรับจนเกิดเป็น “พะเยาโมเดล” ซึ่งความสำเร็จของ “พะเยาโมเดล” เกิดจากจังหวัดพะเยาที่มีการวางแผนและมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา แต่จะนำไปยังที่อื่นก็ต้องดูก่อน เพราะปัญหาที่พะเยามันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากมีการเติบโตของมหาวิทยาลัย ถือเป็นการเติบโตด้านการศึกษา จึงมีการรองรับการศึกษา แต่ในแต่ละพื้นที่จะมีรากเหง้าปัญหาไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามหลังจากทำพะเยาโมเดลสำเร็จเราก็จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายโดยเฉพาะการมาดูในครั้งนี้ได้นำสื่อมาดูพื้นที่จริงและก็คงจะนำความเห็นของสื่อมวลชนไปพัฒนาปรับปรุงในพื้นที่อื่น
ส่วนนางจราภรณ์ คล้ายปาน ตัวแทนภาคประชาชน ต.แม่กา ได้เผยว่าในเรื่องการแก้ไขปัญหาพื้นที่ ส.ป.ก.พะเยา มาถูกทางแล้วขอสนับสนุนเพราะสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนเมืองใหญ่แล้ว ซึ่งแต่เดิมเองพื้นที่ดิน ส.ป.ก.แห่งนี้ก็ใช้ในการเกษตรพืชผลไม่ได้ผลมากเพราะสภาพพื้นที่เป็นหิน และเมื่อมีมหาวิทยาลัยมาแต่แรกไม่มีหอพักเลย ทางชาวบ้านในพื้นที่จึงยอมผิดเงื่อนไข นำพื้นที่ ส.ป.ก.มาสร้างอาคารหอพักเพื่อรองรับลูกหลานเกษตรกรที่จะมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ชาวบ้านนำพื้นที่กลับคืน ส.ป.ก.และให้เช่าถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกทางแล้ว และชาวบ้านเองก็ไม่ถูกทำร้ายในด้านถือครองเพียงแต่ถือครองในรูปแบบของการเช่า ส.ป.ก. ซึ่งเป็นที่ดีของรัฐ รัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์เลย และก็ถือเป็นประโยชน์แล้วในทุกฝ่าย ดีกว่าจะถูกทุบทิ้งโดยไร้ค่าเพราะพื้นที่แห่งนี้มันเปลี่ยนไปแล้วจากความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ควรยุติลงได้แล้ว.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.