นักวิชาการห่วงฟองสบู่จีนกระทบไทยมากกว่าวิกฤติหนี้กรีซ
นักวิชาการย้ำให้รับมือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจีนจากฟองสบู่แตก ระบุอาจมีเงินทุนเก็งกำไรไหลเข้าตลาดไทยและอาเซียนบ้าง เชื่อปัญหาเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมากมายหลายเท่า
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนว่า ให้รับมือกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจีนจากฟองสบู่แตกในตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ เงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นส่วนหนึ่งอาจไหลเข้าตลาดไทยและอาเซียนบ้าง คาดผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจการค้าการผลิตของโลกและไทย หากฟองสบู่ในตลาดการเงินพัฒนาสู่วิกฤตการณ์ในภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนในตลาดการเงิน ปัญหาเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมากมายหลายเท่าโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปัญหาหนี้สินกรีซ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงกว่า 33% ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ดัชนีราคาหุ้นเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีน
ลดลงจากระดับ 5,000 จุด สู่ระดับ 3,342 จุด (ดัชนีเปิดตลาดวันที่ 9 ก.ค. 2558) และคาดว่าจะปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 10-20% เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจปัญหาฟองสบู่ล้วนๆ
ปัจจุบันธุรกิจอุตสาหกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์จีนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องคิดเป็น 20% ของจีดีพีจีน มีโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตก ภาคการเงินของจีน นอกจากนี้พบว่าธุรกรรมของระบบสถาบันการเงินไทยและจีนมีอยู่ในระดับค่อนข้างสูงหากระบบสถาบันการเงินของจีนอ่อนแอลงย่อมส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แม้นว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและฐานะการเงินทั้งระบบของสถาบันการเงินไทยจะแข็งแกร่งอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกอีกประการหนึ่ง ก็คือ จีนเข้าไปลงทุนและถือหุ้นในหลายกิจการในสหรัฐอเมริกา จีนถือพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวนมากในทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน หากจีนมีปัญหาก็จำเป็นต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะส่งผลต่อความผันผวนเศรษฐกิจการเงินโลกได้
นายอนุสรณ์กล่าวถึงผลกระทบทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวว่า ด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลาดจีน
คิดเป็นสัดส่วน 10-11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย (โดยมูลค่าส่งออกไทยไปจีนไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ 14.4%)อัตราการขยายตัวของการนำเข้าของจีนจะไม่สูงเหมือนในอดีตเพราะจีนมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหันมาผลิตสินค้าในห่วงโซ่ภายในประเทศมากขึ้น
ส่วนการลงทุนของจีนในไทยได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐกระทบน้อยเพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนระยะยาวและเป็นโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีผลกระทบอยู่บ้างคือการลงทุนในตลาดการเงินและการถือหุ้นที่เป็น Foreign Portfolio Investment
ด้านรายได้การท่องเที่ยวจีนพบว่า เข้าสู่ไทยคิดเป็น 19% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด โดยภาคการท่องเที่ยวไม่น่ามีผลกระทบมากนัก หากเศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอตัวลงต่ำว่า 6.5% ในปีนี้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% แน่นอน ต้องใช้มาตรการแก้ไขโดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเต็มที่ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
เต็มที่ และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 1% จึงจะประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ขอบคุณข้อมูลจาก : แนวหน้า
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.