เรื่อง: กรณ์ จาติกวนิช จาก Forbes Thailand ฉบับ JUNE 2015
Entrepreneurism หรือ ความกล้าได้กล้าเสีย นั้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจิตใจ บางคนมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ บางคนไม่มี เป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าสภาพแวดล้อมของสังคมมีผลอย่างมากต่อการสร้างวัฒนธรรมการทำธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นบ่อย คือ ลูกชายตระกูลชาวจีนที่เติบโตมากับบรรยากาศการค้าขาย มักคุ้นเคยกับการคำนวณต้นทุน – กำไร เช่นเดียวกัน สังคมที่จะสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ ได้ คือ สังคมที่ให้คุณค่ากับการสร้างเนื้อสร้างตัว เกือบ 30 ปีก่อน เมื่อผมตัดสินใจตั้งบริษัทหลักทรัพย์เอง ผมมีความรู้สึกว่า ไม่มีบริษัทไหนที่ดีพอ หลังจากผมทำงานในบริษัทการเงินระดับโลกมาแล้ว ประสบการณ์นั้นทำให้ผมมีความมั่นใจในตัวเองและมีความเชื่อว่าผมสามารถสร้างบริษัทที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนได้
ดังนั้น สรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญในการเริ่มกิจการ คือ ความเชื่อมั่นว่าเราสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่โดดเด่นได้ นอกจากความรู้ที่สั่งสมมาจากต่างประเทศแล้วที่ ปัจจัยที่ช่วยให้ผมตั้งกิจการของตนเองได้ คือ
  1. mentor หรือพี่เลี้ยงที่ดี ซึ่งในวันนั้นคือ คุณปิ่น จักกะพาก และทีมงานของคุณปิ่นอีกหลายท่านที่ให้ความกรุณา
  2. ผมสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ซึ่งได้จากการยืมเงินที่บ้านส่วนหนึ่ง และการติดต่อทุนจากต่างประเทศมาสมทบอีกส่วนหนึ่ง
การเป็น "entrepreneur" มีความคล้ายกับการฝึกแข่งขันกีฬา นักกีฬาต้องมี Trainer ต้องมี Coach และ มีคู่หูที่ฝึกซ้อมอยู่ด้วยกัน ประสบการณ์สอนผมว่า การมีเพื่อนคู่คิดและพี่เลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ในวันที่ผมกับ "คู่หู" ได้ตัดสินใจว่าจะลงทุนลงแรงเปิดบริษัทตัวเอง ตอนนั้นเราเป็นคนหนุ่มอายุ 23 ปี และคู่หูคนนั้นคือ คุณมนตรี ศรไพศาล CO-CEO คนปัจจุบันแห่งโบรกเกอร์อันดับหนึ่งของไทย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น สำหรับคนหนุ่มคนสาวกำลังใจจากสังคมและความสนใจที่ "สื่อ" มีต่องานของเรา ก็เป็นแรงใจสำคัญของความสำเร็จ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผมได้วางจำแหน่งหนังสือเกี่ยวกับ Entrepreneurship ชื่อ Dare to Do กล้าลุย ไม่กลัวล้ม ซึ่งผมได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 12 คน แทบทุกคนพูดถึงกำลังใจที่ได้รับจากการยกย่องโดยสื่อและการยอมรับโดยสังคม การมีวัฒนธรรมที่เชิดชูความสำเร็จจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างและส่งเสริม "Entrepreneur Culture" มีคนถามผมบ่อยครั้งว่า ผมมีคำแนะนำอะไรให้กับผู้ที่คิดสร้างกิจการของตนเอง ผมจะตอบว่า "ก่อนอื่นคุณต้องตอบให้ได้ว่าใครจะซื้อสินค้าของคุณ ที่สำคัญสินค้าของคุณนั้นต่างจากของคนอื่นอย่างไร และผู้บริโภคเขาจะให้ความสำคัญกับความแตกต่างนั้นหรือไม่" ผู้ประกอบการที่เป็น "internet start-up" เขาจะตอบโจทย์คำถามนี้ด้วยศัพท์ที่เขาเรียกว่า "disrupt" ที่แปลว่า "ก่อกวน" ซึ่งคือการใช้ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีในการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่มีประสิทธิภาพกว่าแนวทางเดิม หรือ "ก่อกวน" ระบบเดิมนั่นเอง เช่น Ookbee ที่ขายนิตยสารและหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ GrabTaxi ที่เป็น App มือถือสำหรับใช้จองแท็กซี่ล่วงหน้าแบบออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาการเรียกรถแท็กซี่ที่คนกรุงประสบอยู่ทุกวันนี้
หัวใจในการสร้าง Entrepreneurism มี 4 เรื่อง สำคัญ คือ
  1. การศึกษา – นวัตกรรมเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความรู้
  2. การลดการผูกขาด – ข่าวเรื่องการเอาเปรียบผู้ผลิตรายเล็กโดยร้านค้ารายใหญ่ เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าการผูกขาดสามารถตัดโอกาสผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างไร
  3. ลดขั้นตอนราชการและลดภาระภาษี
  4. เพิ่มโอกาสเข้าถึงทุน
ในเชิงนโยบายระดับประเทศ รัฐก็ต้องคิดว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้มีนวัตกรรมและกิจการใหม่ๆ เราต้องช่วยกันสร้าง “entrepreneurism” เพราะนี่คือแนวทางสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของไทย กรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขอบคุณข้อมูลจาก : Forbesthailand