การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วนอีกวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ขาดแคลนน้ำ ก็คือ การขุดเจาะบ่อบาดาล ข้างๆ ผมนี้ ก็คือเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งการขุดเจาะบ่อบาดาลก็ คือ การขุดเจาะรู หรือปล่อง ลงไปในใต้ดิน จนกระทั่งถึงชั้นน้ำบาดาล และมีการพัฒนานำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ก่อนจะเริ่มขุดเจาะก็จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยา และลงสำรวจพื้นที่ เพื่อคัดเลือกสถานที่ จากนั้นก็เริ่มขุดเจาะ ซึ่งในพ้ืนที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องเจาะแบบหมุนตรง ใช้หัวเจาะขนาด 6 นิ้ว เจาะไปถึงชั้นน้ำบาดาล ลึกประมาณ 50 เมตร ระหว่างการเจาะจะใช้ปั๊มลูกสูบ สูบน้ำโคลนออกมา ซึ่งน้ำจากบ่อโคลนนี้จะถูกนำไปช่วยหล่อเลี้ยงระหว่างการขุดเจาะ และความเหนียวของน้ำโคลนยังช่วยเคลือบผนังบ่อ ขณะเดียวกันก็ยังดันหิน กรวด ทราย ขึ้นมาข้างบ่อที่ขุดเจาะด้วย เมื่อขุดเจาะถึงชั้นบาดาลแล้ว ก็จะขุดขยายบ่อให้มีความกว้างขนาด 12 นิ้ว เพื่อใส่ท่อกรุบ่อ ช่วงปลายของท่อกรุจะเป็นท่อรับทราย และจะต้องเซาะร่อง เพื่อให้น้ำไหลเข้าได้ หรือเรียกว่าท่อกรอง ระหว่างท่อกรุ กับผนังบ่อ จะต้องมีช่องว่าง ไม่น้อยกว่า 75 มิลลิเมตร เพื่อใส่กรวดคัด หรือกรุกรวด ขนาด 3-5 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำบาดาลเข้าบ่อ ชั้นต่อมาจะใส่ดินเหนียวเหนือชั้นกรุกรวด เพื่อป้องกันน้ำเสียไหลเข้าบ่อ สุดท้ายเทคอนกรีตต่อจากดินเหนียวผนึกปากบ่อ และเทลานคอนกรีตรอบบ่อ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนพัฒนาบ่อน้ำบาดาล จะต้องทำการเป่าล้างบ่อบาดาล จนสะอาด ปริมาณน้ำที่ได้ในแต่ละบ่อ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขึ้นมาใช้ โดยการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน หลายคนอาจจะสงสัยว่า การขุดเจาะบ่อบาดาล แล้วจะทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดหรือไม่ และมีน้ำบาดาลให้นำมาใช้มากน้อยแค่ไหน นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยืนยันว่า การขุดเจาะบ่อบาดาล จะไม่ทำให้เกิดแผ่นดินทรุด เพราะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการควบคุมการใช้ โดยให้ขออนุญาตก่อนขุดเจาะ และเก็บค่าน้ำบาดาล 13 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำบาดาลก็มีมากพอ เพราะในแต่ละปีมีการคาดการณ์ว่าจะมีน้ำฝนตกเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 7 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้ จะไหลลงตามแม่น้ำ ลำคลอง 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ใต้ดิน 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลืออีก 4 แสนล้านลูกบาศก์เมตร จะระเหยกลายเป็นไอ หมายความว่าในแต่ละปีเราจะมีน้ำบาดาลใช้ 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันในแต่ละปีมีการขุดเจาะพัฒนานำน้ำบาดาลมาใช้เพียง 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ปริมาณน้ำบาดาล เมื่อเทียบกับน้ำผิวดินบนโลกแล้วก็มีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงทุกชีวิตได้ หากเรามีการบริหารจัดการที่ดี และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำร่วมกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์