เศรษฐกิจครึ่งปีหลังทรุดหนัก คลังชี้ส่งออกติดลบ-ภัยแล้งกดจีดีพีหลุด 3%
“สมหมาย” หวั่นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังทรุดหนัก กดจีดีพีไทยตลอดทั้งปีต่ำกว่า 3% เหตุปัจจัยลบต่างประเทศส่งผลให้ยอดการส่งออกทั้งปีติดลบ 1.7% ขณะที่ปัญหาภัยแล้งยังกระหน่ำไม่หยุด “ธนาคารโลก” เผยมนุษย์เงินเดือนเตรียมรับมือราคาสินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 จะมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพียง 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่เกิน 3% ของจีดีพี สำหรับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำไม่เกิน 3% เนื่องจากการส่งออกหดตัว โดยคาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะติดลบ 1.3% และตลอดทั้งปีนี้ จะติดลบ 1.7%
“แม้ว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนเพียงใดแต่ก็ไม่สามารถทดแทนการหดตัวของภาคส่งออกได้ โดยการลงทุนของภาครัฐจะขยายตัว 4.2% และการลงทุนภาครัฐในครึ่งปีหลัง จะขยายตัว 15.3% ก็ตาม แต่สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐในจีดีพีมีเพียง 20-22% เท่านั้น ขณะที่ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึง 74-75%”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังจะเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 ของรัฐบาล คือโครงการบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วน และโครงการบูรณะซ่อมแซมถนนมูลค่า 78,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว 60-70% ของมูลค่าโครงการนั้น คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนในปีหน้ารัฐบาลก็ได้อนุมัติแผนลงทุนมอเตอร์เวย์ 3 สาย และโครงการรถไฟฟ้าอีก 2-3 สาย เพราะหากเร่งการเบิกจ่ายมากเกินไปเศรษฐกิจก็อาจจะพังได้
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ดีกว่าที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปีงบประมาณ 2559 ขาดดุล 2.9% ปี 2560 ขาดดุล 3.5% ของจีดีพี สูงกว่าปีงบ 2558 ที่ขาดดุล 1.9% ของจีดีพี
“เศรษฐกิจที่ขยายตัวตกต่ำเกิดขึ้นทั้งโลก โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจจีนหดตัว โดยจีดีพีของจีนที่หดตัว 1% เท่ากับ 104,000 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 27.7% ของจีดีพีไทย ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกของอินเดียหดตัว 15.9% อินโดนีเซีย หดตัว 11.8% และสิงคโปร์หดตัว 7.2%”
น.ส.กิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ กล่าวในงานสัมมนา “ก้าวทันความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2558 จับทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงิน” จัดโดยธนาคารกสิกรไทยว่า ปัญหาภัยแล้งทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเนื่องจากรายได้ภาคการเกษตรลดลง ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้สิน กระทบต่อการใช้จ่ายและก่อให้เกิดปัญหาสังคม ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือเป็นพิเศษ ด้วยการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ภัยแล้งยังส่งผล กระทบถึงมนุษย์เงินเดือน หากผลผลิตการเกษตรลดลง ราคาสินค้าก็จะแพงและส่งผลต่อค่าครองชีพ นอกเหนือจากการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งปัจจุบันรายได้เกษตรกรคิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพี หรือมีเกษตรกรเกี่ยวข้อง 10-11 ล้านคน
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวและการลงทุนใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี เพราะการส่งออกไทยคงติดลบมากกว่า 1.7% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัว จึงหวังพึ่งส่งออกไม่ได้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ประมาณ 2.2% จากที่ประเมินไว้ที่ 2.8% ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หากธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. หรือต้นปีหน้าอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่ได้ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากนัก เพราะมีผลต่อการทำธุรกิจ
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค.นี้ และครั้งต่อไป ในวันที่ 16 ก.ย. ก่อนจะแถลงปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นทางการในวันที่ 25 ก.ย.ปีนี้อีกครั้ง จากปัจจุบันที่ ธปท.คาดว่า ปีนี้จีดีพีจะโตที่ 3% ของจีดีพี แต่เนื่องจากประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีอย่างแน่นอน.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.