ผู้ว่าการ ธปท. เผยศก.ไทยเสี่ยงโตต่ำกว่า 3% หลังภัยแล้งรุนแรง สั่งจับตาใกล้ชิด พร้อมคงเป้าส่งออกปีนี้ ติดลบ 1.5% ชี้ เงินบาทอ่อนค่าช่วยส่งออกระยะสั้น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา"National Agenda on Competitiveness :The Way Forward" ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2558 เสี่ยงโตต่ำกว่าประมาณการที่ระดับ 3% ทั้งนี้ หากจะเร่งผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้เต็มศักยภาพ 4-5% ภาครัฐจะต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในการลงทุนโดยรวมให้ได้อยู่ที่ระดับ 26% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จากปัจจุบันการลงทุนภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 22% ซึ่งหากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ นั้น มองว่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในระยะสั้น โดยจะช่วยให้ภาคการส่งออกมีรายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทไม่น่ากังวลเนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า คู่แข่งยังอยู่ในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคในส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลขณะนี้เกิดจากภาคเอกชนไม่ลงทุนและราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจึงส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงและเกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด "การถือครองพันธบัตรของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทยยังมีสัดส่วนน้อย อย่างไรก็ตามในอนาคตความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังมีอยู่ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยในต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรระมัดระวังกับความอ่อนไหวของค่าเงิน" นายประสาร กล่าว สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ตลาดมีการรับรู้ข่าวสารล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อมั่นว่า ไทยมีมาตรการและเครื่องมือในการรองรับ ทั้งการดูแลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น และเงินสำรองระหว่างประเทศ
ในส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงของไทย คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าภายหลังโครงการรถยนต์คันแรกเริ่มจะหมดไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงนั้น ไม่ได้กระทบกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จนทำให้การขยายตัวของสินเชื่อติดลบ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวได้ 5-6% ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3% โดยสาเหตุที่สินเชื่อยังไม่ขยายตัวเพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีการออกหุ้นกู้จากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ นอกจากนี้ ธปท.จะเสนอแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (มาสเตอร์แพลน 3) ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี ให้กระทรวงการคลังพิจารณาในเดือนสิงหาคม โดยแผนพัฒนามาสเตอร์แพลน 3 ฉบับนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสนอเรื่องมาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงการขอสินเชื่อ การส่งเสริมดิจิตอลแบงกิ้ง และการเชื่อมโยงระบบธนาคารการเงิน เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์