"ปอด" แห่งใหม่ ใจกลางกรุง ตอบโจทย์สวนแห่งความหวัง จริงหรือ?!
“กรุงเทพมหานคร” ศูนย์กลางของความเจริญครบทุกด้าน พัฒนา และเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้เสมือนเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างหลั่งไหลเข้ามาจับจองพื้นที่ทำมาหากินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในแง่ผลกระทบด้านปัญหาต่างๆ ของมหานครแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ควันพิษจากท่อไอเสีย ขยะเป็นพิษ รวมถึงกลิ่นเน่าเหม็นจากแม่น้ำลำคลอง ทำให้ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบของสวนสาธารณะมากขึ้น
จากที่นำเสนอไปแล้ว 2 ตอน ได้แก่ มักกะสัน สวนแสนล้าน EP.1 เปิดขุมทรัพย์ รฟท. งัดทำเลทองล้างหนี้ 8 หมื่นล้าน และ มักกะสัน สวนแสนล้าน EP.2 คำตอบจากชาวกรุง มักกะสันแบบไหนที่พอใจ วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปเจาะลึกเกี่ยวกับโครงการ “มักกะสัน สวนสร้างสรรค์” ในรูปแบบของสวนสาธารณะ บนพื้นที่สีเขียวกว่า 150 ไร่ จาก 497 ไร่ ที่จะกลายเป็นปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ในไม่ช้านี้ ว่า สุดท้ายแล้ว.. จะออกมาในรูปแบบใด? พิมพ์เขียวมักกะสันที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ เหมาะสมกับพื้นที่มักกะสันหรือไม่? รวมถึงจะออกแบบสวนอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด? ในตอน 3 นี้ มีคำตอบ
พื้นที่ที่จะกลายเป็นปอดแห่งใหม่ในอนาคต
พิมพ์เขียว เวอร์ชั่น คสช. VS พื้นที่มักกะสัน ตอบโจทย์?!
ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อพูดคุยกับ นายภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า ที่ดินมักกะสันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในหลายมิติ เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมืองและมีการเชื่อมต่อทางคมนาคมที่หลากหลาย เช่น ทางด่วน ทางรถไฟ และสถานีรถไฟฟ้า ทำให้จำเป็นต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับรายละเอียดพื้นที่มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณค่าเชิงระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณค่าทางประวัติศาสตร์
นายภราเดช กล่าวอีกว่า การจัดสรรพื้นที่มักกะสัน ตามนโยบายของรัฐบาล คสช. โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียว พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างตอบโจทย์และเหมาะสมกับพื้นที่มักกะสันพอสมควร เนื่องจากการสร้างสิ่งต่างๆ จะต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการและรายละเอียดของการก่อตั้ง หรือ TOR (Term of Reference) ซึ่งเป็นข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง รวมถึงขอบเขตของงานว่า จะสามารถสร้างสิ่งต่างๆ ในพื้นที่อย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
สวนสาธารณะที่ดี จะต้องมี ?!
"ลักษณะของสวนสาธารณะที่ดี จะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับกิจกรรมนันทนาการ ออกกำลังกาย และการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นโซนแต่ละกิจกรรม อาทิ โซนสนามฟุตซอล ลานแสดงนิทรรศการ หรือลานดนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการสร้างสวนสาธารณะ คือ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และทำกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย" นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ระบุ
นอกจากนี้ นายภราเดช ได้ยกตัวอย่างสวนสาธารณะ Bryant park กรุงนิวยอร์ก ว่า เคยเป็นสวนสาธารณะที่ถูกสร้างขึ้นโดยภาครัฐ แต่กลับไม่มีประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นเพียงลานกว้างๆ เท่านั้น กระทั่ง มีกลุ่มเอกชนออกมาขอร้องให้รัฐทำการปรับปรุงและพัฒนาฟื้นฟูใหม่ โดยการสร้างลานกิจกรรมเอนกประสงค์หรือลานแสดงกิจกรรมต่างๆ เข้ามามากมาย ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ทำให้สวนสาธารณะ Bryant park แห่งนี้ กลายเป็นลานกิจกรรมใจกลางเมืองที่ตอบโจทย์ประชาชนเป็นอย่างมาก
เสียงประชาชน! บทบาทสำคัญ ก่อนสร้างสวน
ด้าน นางสาววีนา วงศ์สินธุ์เชาว์ ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม เผยว่า การสร้างสวนสาธารณะ จะสอดคล้องตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งรูปแบบของสวนที่ดี จะต้องตอบสนองผู้ใช้บริการให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด ทั้งนี้ ลักษณะของสวนสาธารณะ โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ทางเดินวิ่ง ลานอเนกประสงค์ เช่น ลานเต้นแอโรบิก ลานออกกำลังกาย หรือกิจกรรมต่างๆ รวมถึงบริเวณสำหรับเครื่องออกกำลังกาย และสนามเด็กเล่น เป็นต้น ซึ่งส่วนของสนามเด็กเล่น จะมีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของพื้นที่ ว่า ในแหล่งชุมชนนั้น มีจำนวนเด็กโดยส่วนมากหรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อออกแบบโครงสร้างของสวนสาธารณะเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ว่า ต้องการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ สิ่งใดบ้างที่ประชาชนไม่ต้องการ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างสวนสาธารณะคือ ต้องคำนึงถึงความร่มรื่น และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น ห้องสุขา ไฟฟ้า แสงสว่าง และความปลอดภัย
จำนวนต้นไม้แค่ไหน จึงเรียกว่า "สวนสาธารณะ"
นางสาววีนา กล่าวต่อว่า การสร้างสวนสาธารณะไม่มีข้อกำหนดว่า จะต้องมีจำนวนต้นไม้มากหรือน้อยเพียงใด แต่ลักษณะสวนโดยทั่วไป ควรจะมีสิ่งก่อสร้างไม่มากเกินไป สามารถสร้างได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เนื่องจากภาพรวมของสวนสาธารณะจะต้องเน้นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น ซึ่งส่วนของอาคารที่สามารถสร้างได้ จะต้องสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ เช่น อาคารสำนักงาน ห้องสุขา เรือนเพาะชำ ลานอเนกประสงค์ และสระน้ำ โดยการสร้างสวนสาธารณะส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณ เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อไร่ แต่สำหรับสวนป่าที่ไม่มีสิ่งก่อสร้าง จะใช้งบประมาณน้อยลง
ผู้อำนวยการสำนักสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงหลักการดูแลสวนสาธารณะว่า จะมีการทำแผนเป็นรายปี รายเดือน และรายสัปดาห์ โดยรายละเอียดของแผนงานจะมีการระบุไว้ชัดเจน ว่า จะต้องปฏิบัติและดูแลไม้ยืนต้น ปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนไม้พุ่มจะต้องดูแลเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งการดูแลจะเป็นไปตามสภาพของต้นไม้ในแต่ละแห่ง รวมถึงมีแผนการทำไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อสร้างจุดเด่นและความสวยงามให้แก่สวนสาธารณะ นอกจากนี้ จะมีการดูแลรักษา เก็บกวาด และซ่อมแซม ส่วนของพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนสุขาสาธารณะ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งที่ที่ผ่านมาจะมีการประชาสัมพันธ์สวนสาธารณะ และจัดกิจกรรมตามวาระสำคัญ เช่น ปีใหม่ ลอยกระทง หรือเทศกาลต่างๆ เป็นต้น
กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะ แบ่งเป็น 7 ประเภท รวมทั้งหมด 7,187 แห่ง พื้นที่รวม จำนวน 19,973 ไร่ 1 งาน 84 ตารางวา ดังนี้
1. สวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park, Tot lots) มีพื้นที่ขนาดไม่เกิน 2 ไร่ จำนวน 3,249 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 1,935 ไร่ โดยสวนลักษณะนี้จะอยู่ระหว่างอาคารหรือกลุ่มอาคาร
2. สวนหมู่บ้าน (Neighbourhood Park) มีขนาดพื้นที่มากกว่า 2 ไร่ แต่ไม่เกิน 25 ไร่ จำนวน 865 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 5,515 ไร่ โดยเป็นสวนสำหรับประชาชนผู้อยู่อาศัยในละแวกบ้าน
3. สวนชุมชน (Community Park) มีขนาดพื้นที่มากกว่า 25 ไร่ แต่ไม่เกิน 125 ไร่ จำนวน 66 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 3,372 ไร่ โดยเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนและเพลิดเพลินไปกับความสวยงามของไม้ดอกไม้ประดับ
4. สวนระดับเขตหรือย่าน (District Park) มีขนาดพื้นที่มากกว่า 125 ไร่ แต่ไม่เกิน 500 ไร่ จำนวน 14 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 3,617 ไร่ โดยสวนลักษณะนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง เช่น บริเวณปิกนิก ลานจอดรถ ลานอเนกประสงค์ และบริเวณที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น สวนดอกไม้ขนาดใหญ่ สระแล่นเรือ จักรยาน บึงตกปลา ลำธาร เป็นต้น
5. สวนระดับเมือง (City Park) มีขนาดพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ขึ้นไป จำนวน 1 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 650 ไร่ โดยสวนในลักษณะนี้จะเป็นลานกว้างสำหรับการจัดงานประเพณี มีกิจกรรมที่หลากหลาย และเน้นไปที่กิจกรรมที่สนุกสนาน ตื่นเต้น และดึงดูดความสนใจ
6. สวนถนน (Street Park) มีความกว้างของพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 เมตร ความยาวไม่จำกัด จำนวน 2,922 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 4,809 ไร่ โดยสวนลักษณะนี้จะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สวนไหล่ทางหรือทางจักรยาน สวนเกาะกลาง และสวนทางแยก
7. สวนเฉพาะทาง (Special Purpose Park) มีจำนวน 19 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 66 ไร่ โดยลักษณะของสวน เช่น สวนประวัติศาสตร์ สวนอนุสาวรีย์ สวนวัฒนธรรม ลานอเนกประสงค์ ซึ่งไม่จำกัดขนาดพื้นที่
ถนนนิคมมักกะสัน ชุมชนย่านมักกะสัน
ส่อง! พื้นที่สวนสีเขียว 34 แห่ง ปอดมหานคร
กรุงเทพมหานครมีพื้นที่เขียวในรูปแบบสวนสาธารณะหลักทั้งสิ้น จำนวน 34 แห่ง พื้นที่ 2,955 ไร่ 77.40 ตารางวา ดังนี้
1. สวนลุมพินี บริเวณถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน มีขนาดพื้นที่ 360 ไร่
2. สวนจตุจักร บริเวณถนนกำแพงเพชร 1 เขตจตุจักร มีขนาดพื้นที่ 155 ไร่
3. สวนพระนคร บริเวณหมู่ 1 ถนนอ่อนนุช แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง มีขนาดพื้นที่ 50 ไร่
4. สวนสราญรมย์ บริเวณระหว่างถนนเจริญกรุง ตัดกับถนนราชินีเขตพระนคร มีขนาดพื้นที่ 23 ไร่
5. สวนธนบุรีรมย์ บริเวณหมู่ 2 ถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ มีขนาดพื้นที่ 63 ไร่
6. สวนหลวง ร.9 บริเวณถนนสุขุมวิท 103 เขตประเวศ มีขนาดพื้นที่ 500 ไร่
7. สวนเสรีไทย บริเวณถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม มีขนาดพื้นที่ 350 ไร่ 8. สวนหนองจอก บริเวณหมู่ 2 ถนนเลียบวารี แขวงหนองจอก เขตหนองจอก มีขนาดพื้นที่ 35 ไร่ 9. สวนพรรณภิรมย์ บริเวณถนนพระรามที่ 9 เขตห้วยขวาง มีขนาดพื้นที่14 ไร่ 10. สวนรมณีนาถ บริเวณถนนศิริพงษ์ เขตพระนคร มีขนาดพื้นที่ 29 ไร่ 11. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร มีขนาดพื้นที่ 196 ไร่ 12. สวนสันติภาพ บริเวณระหว่างถนนราชวิถีและถนนรางน้ำ เขตราชเทวี มีขนาดพื้นที่ 20 ไร่ 13. สวนวชิรเบญจทัศ บริเวณถนนกำแพงเพชร 3 เขตจตุจักร มีขนาดพื้นที่ 375 ไร่ 14. สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บริเวณฝั่งพระนคร เชิงสะพานพระราม 9 เขตบางคอแหลม มีขนาดพื้นที่ 29 ไร่ 15. สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง มีขนาดพื้นที่ 15 ไร่ 16. สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา มีขนาดพื้นที่ 54 ไร่ 17. สวน 50 พรรษามหาจักรีสิรินธร เขตประเวศ มีขนาดพื้นที่ 20 ไร่ 18. สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน มีขนาดพื้นที่ 59 ไร่ 19. สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเกียกกาย บริเวณถนนทหาร เขตดุสิต มีขนาดพื้นที่ 10 ไร่ 20. สวนหลวงพระราม 8 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด มีขนาดพื้นที่ 24 ไร่ 21.อุทยานเบญจสิริ บริเวณติดถนนสุขุมวิท ระหว่างซอยสุขุมวิท 22-24 เขตคลองเตย มีขนาดพื้นที่ 29 ไร่
22. สวนวนธรรม (สวนธรรม 70 พรรษา มหาราชินี) บริเวณด้านหลังสวนหลวง ร.9 เขตประเวศ มีขนาดพื้นที่ 48 ไร่ 23. สวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ บริเวณถนนร่มเกล้า เขตลาดกระบัง มีขนาดพื้นที่ 52 ไร่ 24. สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย มีขนาดพื้นที่ 130 ไร่ 25. สวนสันติชัยปราการ บริเวณถนนพระอาทิตย์ บางลำพู มีขนาดพื้นที่ 8 ไร่ 26. สวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตบึงกุ่ม มีขนาดพื้นที่ 76 ไร่ 27. สวนนาคราภิรมย์ เขตพระนคร มีขนาดพื้นที่ 4 ไร่ 28. สวนสิรินธราพฤกษา เขตบางกอกน้อย มีขนาดพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ 29. สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เขตสาทร มีขนาดพื้นที่ จำนวน 17 ไร่ 30. สวนน้ำลาดพร้าว 71 เขตลาดพร้าว มีขนาดพื้นที่ จำนวน 21 ไร่ 31. สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 80 พรรษา เขตบางกอกน้อย มีขนาดพื้นที่ จำนวน 21 ไร่ 32. สวนจรัญภิรมย์ เขตบางพลัด มีขนาดพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ 33. สวนวัชราภิรมย์ เขตบางเขน มีขนาดพื้นที่ จำนวน 34 ไร่ 34. สวนวารีภิรมย์ เขตคลองสามวา มีขนาดพื้นที่ จำนวน 121 ไร่
ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่สีเขียวรูปแบบของสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร พบว่า เขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะมากที่สุดคือ เขตพระโขนง มีจำนวน 340 แห่ง และน้อยที่สุดคือ เขตดอนเมือง มีจำนวน 55 แห่ง โดยเขตที่มีพื้นที่สวนสาธารณะมากที่สุดคือ เขตประเวศ มีขนาดพื้นที่ 1,775 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา และน้อยที่สุดคือ เขตสัมพันธวงศ์ มีขนาดพื้นที่ 26 ไร่ 11.50 ตารางวา เขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะหลักมากที่สุดคือ เขตพระนคร จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สวนสราญรมย์ สวนรมณีนาถ สวนสันติชัยปราการ และสวนนาคราภิรมย์ เขตที่มีพื้นที่มากที่สุดคือ เขตหนองจอก มีขนาดพื้นที่ 147,663 ไร่ 50 ตารางวา และน้อยที่สุดคือ เขตสัมพันธวงศ์ มีขนาดพื้นที่ 885 ไร่ ส่วนเขตที่มีสัดส่วนของสวนสาธารณะต่อประชากรมากที่สุดคือ เขตคันนายาว มีขนาดพื้นที่ 22.35 ตารางเมตรต่อคน และน้อยที่สุดคือ เขตวัฒนา มีขนาดพื้นที่ 1.31 ตารางเมตรต่อคน
พื้นที่มักกะสันในปัจจุบัน
ย้อนดู! นโยบายเพิ่มสวนสีเขียว สำเร็จแล้วกว่าครึ่ง
หากย้อนดูนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า มีการกำหนดแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครไว้ ว่า ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นอีก 5,000 ไร่ ภายในปี 2560 ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการไปทั้งสิ้นแล้ว 2,800 กว่าไร่ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ตั้งเป้าเกี่ยวกับการดำเนินการสวนสาธารณะให้ได้ปีละ 1,350 ไร่ และภายในปี 2558 กรุงเทพมหานครตั้งเป้าอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวเป็น 5.76 ตารางเมตรต่อคน
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีการก่อสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 10 แห่ง ได้แก่ สวนลอยน้ำแห่งแรก สวนสาธารณะสำหรับสุนัข หรือ Dog Park รวมถึงส่งเสริมการสร้างสวนบนอาคารสูงหรือ Green Roof เพื่อต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้มากขึ้น ซึ่งหากสวนสาธารณะแล้วเสร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหานครได้อีกมากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าบทสรุป การจัดสรรพื้นที่มักกะสันจะจบลงเช่นไร จะเดินหน้าไปในทิศทางใด มักกะสันจะกลายเป็นปอดกลางกรุงผืนสุดท้ายหรือไม่ ประชาชนยังคงเฝ้ารอ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พื้นที่สีเขียว 150 ไร่ ผืนนี้ จะตอบโจทย์ความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.