สศค.ปรับลดจีดีพีเหลือ 3% ลุ้นค่าเงินบาทอ่อนตัวดันส่งออกขยายตัว
สศค.คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ราว 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.7% ประเมินตัวเลขส่งออกขยายตัวติดลบ แต่อาจได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ลุ้นรัฐบาลออกมาตรการช่วยปัญหาภัยแล้งและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนช่วยกระตุ้นบริโภคในประเทศ เผยยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นทั้งจากภายในประเทศและการนำเข้า
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากการติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ ซึ่งพบว่า มีทั้งปัจจัยบวกและเสี่ยง ทำให้ สศค.ประเมินว่า จีดีพีปีนี้จะปรับตัวเลขการเติบโตลดลงเหลือประมาณ 3% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย.ว่า จะขยายตัวได้ที่ 3.7% โดยจีดีพีที่ขยายตัวดังกล่าวนับเป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ เนื่องจากภาคการส่งออกที่ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ต่อการคำนวณจีดีพีนั้น ขยายตัวติดลบมาต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น
ทั้งนี้ สศค.จะแถลงตัวเลขดังกล่าวในวันที่ 28 ก.ค.นี้ โดยประมาณการครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.58 จีดีพีอยู่ที่ 3.9% ลดลงจากประมาณการเมื่อช่วงปลายปี 57 ที่คาดการณ์จีดีพีที่ 4.1% จากนั้นในเดือน เม.ย.ได้ปรับลดจีดีพีลงมาอยู่ที่ 3.7% โดยคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ที่ 0.2% ลดลงจากคาดการณ์เดือน ม.ค.ที่ 1.4%
“ต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักของจีดีพีปีนี้คือภาคการส่งออก เพราะมีสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี แต่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่การส่งออกที่ลดลงนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในหลายประเทศทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่เราจะดีกว่าตรงที่ว่า เราติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และเรายังประเมินว่า การส่งออกเราจะดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงด้วย”
ทั้งนี้ จากข้อมูลการส่งออกตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน พ.ค.58 พบว่า ไทยส่งออกขยายตัวติดลบ 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ อินเดียติดลบ 15.9%, อินโดนีเซีย ติดลบ 11.8% , ออสเตรเลีย ติดลบ 9.2%, สิงคโปร์ ติดลบ 7.2%, ไต้หวัน ติดลบ 5.7%, ฟิลิปปินส์ ติดลบ 5.0%, เกาหลีใต้ ติดลบ 5.0%, มาเลเซีย ติดลบ 4.7% ส่วนจีน และ ฮ่องกง การส่งออกยังขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ 0.6% และ 0.7% ตามลำดับ
นายกฤษฎากล่าวว่า อีกปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งแน่นอนว่า จะกระทบต่อภาพรวมการบริโภค แต่รัฐบาลกำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือ ฉะนั้น เมื่อมีแนวทางช่วยเหลือ ผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าวก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศที่เริ่มขยายตัว โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย.
ที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บขยายตัวได้ 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการนำเข้าก็มีสัญญาณดีขึ้นจากการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิต โดยเมื่อการนำเข้าเพื่อการผลิตดีขึ้น เราก็คาดหวังว่า การผลิตเพื่อการส่งออกจะดีขึ้นตามไปด้วย
“สศค.ประเมินว่า หลากหลายมาตรการของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการกำลังจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแง่เม็ดเงินลงทุนจากโครงการต่างๆ ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนระยะสั้นในระบบน้ำและถนน รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในงบ ประมาณปกติก็จะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2559 ซึ่งโดยปกติจะมียอดเบิกจ่ายราว 40,000-50,000 ล้านบาท หรือ 10-15% ของงบลงทุนรวมในแต่ละปี”.
terramore
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.