ดีดีอ้างล้วนสมัครใจ ยกเลิก-เส้นทางบิน ไปสู่โรมและแอลเอ ดีดีการบินไทยยอมรับต้องหั่นต้นทุน ทยอยโละพนักงาน 1.4 พันคน หั่นเที่ยวบินฤดูหนาว มีทั้งลดและเลิก โดยยกเลิกเส้นทาง “กรุงเทพฯ-โซล-แอลเอ” กับ “กรุงเทพฯ-โรม” รวมถึงใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กลงในบางเส้นทาง หวังแก้ขาดทุน โดยปี 2559 เล็งเปิดโครงการสมัครใจลาออกอีกระลอก ย้ำไม่ได้ปลดพนักงานแต่อย่างใด การบินไทยปรับตัวอีกยก เพื่อลดปัญหาขาดทุน โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณี กระแสข่าวการปลดพนักงานประมาณ 1,400 คน ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามโครงการร่วมใจจากองค์กรเอ็มเอสพี (MSP) สำหรับพนักงานทั่วไป และโครงการโกลเดน แฮนด์เช็ก (Golden Handshake) สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ปี 2558 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย ที่ได้อนุมัติตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2558 เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2558 ตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่ได้มีการประกาศมาก่อนหน้านี้ โดยจะเป็นการทยอยพิจารณาให้พนักงานเข้าร่วมเป็นลอตตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นไป รวม 1,401 คน “ต้องยืนยันว่า การบินไทยไม่ได้ปลดพนักงานแต่อย่างใด เพราะเป็นบริษัทมหาชนไม่สามารถปลดพนักงานได้อยู่แล้ว แต่เป็นการดำเนินโครงการตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูเท่านั้น ไม่มีเรื่องอะไรใหม่แต่อย่างใด โดยการเปิดโครงการครั้งนี้มีพนักงานเข้าร่วมเต็มตามที่กำหนดแล้ว” นายจรัมพรกล่าวและว่าโครงการดังกล่าวได้ใช้งบประมาณไปราว 5,300 ล้านบาท โดยในปี 2559 ตามแผนฟื้นฟูจะต้องใช้งบประมาณอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโครงการดังกล่าวอีก โดยจะสามารถรองรับพนักงานที่จะเข้าร่วมได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปีนี้ นายจรัมพรกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีการจัดทำตารางการบินฤดูหนาว 58/59 แล้ว โดยจะเพิ่มเที่ยวบินตรง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลอนดอน และเที่ยวบินตรง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต จากเดิมมี 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือวันละ 1 เที่ยวบิน เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือวันละ 2 เที่ยวบิน โดยให้บริการด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 380-800 และโบอิ้ง 777-300 อีอาร์ ส่วนการยกเลิกเส้นทางบินและลดเที่ยวบิน จะยกเลิกเส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-โซล-ลอสแอนเจลิส 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ยกเลิกเส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-โรม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และลดเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-โกลกาตา จากเดิมวันละ 2 เที่ยวบิน เหลือวันละ 1 เที่ยวบิน โดยทั้งหมดมีผลตั้งวันที่ 25 ต.ค.58 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีการปรับขนาดเครื่องบินในเส้นทางบินภูมิภาค โดยใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กลงทำการบิน ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-ไฮเดอราบัด กรุงเทพฯ-หลวง-พระบาง และกรุงเทพฯ-ฉางซา โดยทั้ง 3 เส้นทาง ได้โอนย้ายให้สายการบินไทยสมายล์ทำการบินแทน โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องบินนี้จะไม่มีผลต่อการสำรองที่นั่งของผู้โดยสารที่ได้สำรองที่นั่งไว้ “การปรับเปลี่ยนตารางการบินดังกล่าว เป็นตามแผนที่จะต้องลดการขาดทุนควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนปฏิรูป บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการขายและการหารายได้ โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินจำนวน 50 เส้นทางที่ยังมีผลการดำเนินงานขาดทุน หรือมีศักยภาพในการทำกำไรต่ำ ซึ่งตามแผนปฏิรูปนั้น บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดเส้นทางบินอีกประมาณร้อยละ 10 ของเส้นทางทั้งหมด
แต่ในการปรับในครั้งนี้ ได้ทำการลดเที่ยวบินเพียงประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากเส้นทางบินบางส่วนได้มีผลการดำเนินงานที่กระเตื้องขึ้น” นายจรัมพร กล่าว พร้อมระบุการพิจารณาตัดสินใจยกเลิกเส้นทางบิน บริษัทได้ใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี ศักยภาพของตลาด ศักยภาพในการพัฒนา และจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางต่อไปยังเที่ยวบินอื่นมาพิจารณาอย่างเข้มงวดและรอบคอบ ซึ่งเส้นทางบินที่บริษัทตัดสินใจยกเลิกในครั้งนี้ เป็นเส้นทางที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในทุกหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม การยกเลิกเส้นทาง เป็นการยกเลิกเพียงชั่วคราว หากต่อไปพิจารณาแล้วว่าดี บริษัทก็มีแผนพิจารณากลับมาให้บริการอีกครั้ง นายจรัมพรกล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนเส้นทางในบางเส้นทางผู้โดยสารจะยังคงได้รับความสะดวกสบาย เช่น เส้นทาง กรุงเทพฯ-โรม ที่บริษัทมีแผนที่จะจัดการเดินทางผ่านเส้นทางกรุงเทพฯ-มิวนิก กับการบินไทย และต่อเครื่องบินของสายการบินพันธมิตรไปยังโรม และเที่ยวกลับผ่านแฟรงก์เฟิร์ตกับการบินไทย ซึ่งให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ แอร์–บัสเอ 380-800 ซึ่งเป็นเครื่องบินใหม่และมีความสะดวกสบาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์