เปิดผลการศึกษา "เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ : Thailand’s New Normal" สรุปต้อง "ทำใจ" รับทศวรรษนี้ จีดีพีโตไม่เกิน 3% และไม่สามารถแก้ความยากจนได้ ส่งออกโตไม่เกิน 4% เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องปรับใหม่หมด เผยไม่ต้องหวังการลงทุนภาครัฐ ภาคครัวเรือนหนี้ยังค้ำคอ ฝากความหวังเอกชนเดินหน้าลุย ลงทุนเลย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง "เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ : Thailand’s New Normal" ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอัตราที่ต่ำลงและช้าลงกว่าเมื่อก่อน เพราะกำลังเข้าสู่บริบทใหม่หรือ "New normal" เช่น เศรษฐกิจไทยจากที่เคยโตเฉลี่ย 5% ในทศวรรษนี้จะเฉลี่ยเหลือ 3% ต่อปีเท่านั้น งบประชานิยมก็กลายเป็นรัฐที่ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น ทิศทางการลงทุนเปลี่ยนไปจากเงินลงทุนจากต่างประเทศ เป็นนำเงินลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจที่จะโตช้าลง แต่ยังมีมลภาวะมากขึ้นและมีความมั่นคงด้านพลังงานน้อยลง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจัยแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนไปแล้ว ประชากรไทยเข้าสู่วัยชรารวดเร็วจนกำลังแรงงานแทบไม่เพิ่ม ค่าจ้างโตเร็วจนแซงผลิตภาพการผลิต ทำให้ความสามารถในการแข่งขัน ลดลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง หนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทำให้การบริโภคเพิ่มได้ยากอีกพักใหญ่ นอกจากนี้ มีปัญหารายอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนาม ขณะที่การส่งออกปิโตรเคมีชะลอตัว เพราะลูกค้ารายใหญ่อย่างจีนขยายการผลิตจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกเสียเอง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เจอภาวะอุปทานล้นตลาด โดย 3 ส่วนหลังนี้ที่มีปัญหา คิดเป็นสัดส่วน 16% ของจีดีพี เป็นต้น ตัวอย่างที่ชัดเจนของโครงสร้างที่เปลี่ยนไปและทำให้เกิดบริบทใหม่ คือการส่งออกที่ชะลอตัว หลายฝ่ายเชื่อว่าเกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คิดไปว่าน่าจะเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ขออย่าไปโทษตลาดโลกมากนัก เพราะในปีนี้ไม่ได้แย่มาก ความจริงการส่งออกมีปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยรูปแบบการค้าโลกก็เปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาโตเท่าเดิม ก็จะไม่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากเหมือนก่อน นอกจากนี้ ยังเจอสภาพการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยสถานการณ์ในเวียดนามตอนนี้กำลังรุ่งเป็นยุคทองเหมือนประเทศไทยในอดีต ที่มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไป และปัจจัยเฉพาะของประเทศไทย เช่น ปัญหาค่าแรง ได้ส่งผลทำให้ภาคส่งออกที่เคยโต 12% ต่อไปก็จะเหลือไม่ถึง 4% ต่อปีในทศวรรษนี้ ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำอย่างแรกคือ "ทำใจ" และมีอย่างน้อยอีก 3 เรื่องที่ต้องทำ คือ 1. อย่ากระตุ้นด้านอุปสงค์หรือการบริโภคมากจนเกินไป เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาโตเหมือนเก่า เพราะศักยภาพของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ความจริงอัตราการเติบโตระยะยาวอยู่แค่ 3% จึงมีสิ่งที่ควรทำมากกว่าการกระตุ้นการบริโภค คือ การเร่งปรับปรุงศักยภาพโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2. สร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เป็นระบบ ครอบคลุม และครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดการเยียวยาแบบไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ให้กลายเป็นนโยบายประชานิยมหรือการเรียกร้องเยียวยาที่ไม่มีวันจบ 3. ต้องมุ่งสู่การรวมกลุ่มและทำการค้ากับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามและจีนตอนใต้ ไม่ใช่แค่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ใครๆก็พูดกันจนติดปาก เพราะลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่เติบโตเร็วมาก และไทยส่งออกสินค้าไปประเทศกลุ่มนี้มากถึง 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใกล้กับที่ส่งออกไปญี่ปุ่น ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการสร้างถนน หรือรางรถไฟเชื่อมกัน แต่ที่จริงควรมุ่งส่งเสริมสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้นด้วย เช่น บริการให้คำปรึกษากฎหมายและภาษี การพัฒนาคนให้มีทักษะต่างๆ ซึ่งรายได้ที่จะมาจากกลุ่มนี้จะช่วยชดเชยรายได้ของการส่งออกที่จะลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 12% ลงมาเหลือ 4% ได้ โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3% ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ขณะเดียวกัน การถดถอยของเศรษฐกิจไทยก็มาอย่างรวดเร็วเกินไปและมาตอนที่เรายังจนอยู่ ฉะนั้น ภายใต้บริบทใหม่จะต้องหาทางไม่ให้ประเทศไทยจมอยู่แบบนี้ ต้องหาทางเติบโตให้ได้โดยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมใหม่ ส่วนการลงทุนนั้น การลงทุนของภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนแค่ 5% ของจีดีพี จะไปหวังก็ลำบาก ด้านภาคครัวเรือนและการบริโภคยังมีหนี้สินค้ำคอ คงเหลือแต่การลงทุนของภาคเอกชน ที่ขอให้เดินหน้ากันเองโดยไม่ต้องรอรัฐบาล 10 ปีที่ผ่านมามี 4-5 รัฐบาล และเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีไปเป็น 10 ชุดแล้ว ปัญหาก็ยังอยู่ ดังนั้นเอกชนอย่ารอคอยรัฐบาล ขอให้ ทำไปเลย.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์