นักวิจัย MIT พัฒนาอิฐทางเลือก Eco-BLAC จากขยะอุตสาหกรรม หวังแทนที่อิฐมอญ
"อินเดีย" เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวของประชากรสูงที่สุดในโลก วัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้าง จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นในการรองรับการเติบโตนี้ โดยปัจจุบัน อินเดียผลิต อิฐมอญ หรือ อิฐดินเผา มากกว่า 200,000 ล้านก้อน/ปี ซึ่งส่งผลกระทบด้านมลพิษและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสต์ หรือ MIT จึงร่วมกันพัฒนา "Eco-BLAC" อิฐทางเลือก เพื่อมาแทนที่อิฐมอญ หรืออิฐดินเผาแบบเดิมๆ เนื่องจากเป็นการทำลายหน้าดินที่ใช้เป็นพื้นที่ในการเผาอิฐ ทั้งยังใช้ความร้อนในการเผาไหม้สูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส รบกวนพื้นที่เกษตรกรรม และสร้างมลภาวะทางอากาศ สำหรับอิฐทางเลือก "Eco-BLAC" จะผลิตจากขยะอุตสาหกรรม ประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้พลังงานในกระบวนการผลิตน้อย
อิฐทางเลือก "Eco-BLAC" เริ่มพัฒนาครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ศูนย์เทคโนโลยีและการออกแบบ MIT Tata Center ทีมนักวิจัยจาก MIT ประกอบด้วย นักศึกษา 2 ราย Michael Laracy และ Thomas Poinot ร่วมกับศาสตราจารย์ Elsa Olivetti, Hamlin Jennings และ John Ochsendorf โดยพยายามเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของเถ้าหนัก เพื่อลดการฝังกลบขยะมูลฝอย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในมูซาฟฟาร์นคร เมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของกรุงนิวเดลี
ทั้งนี้ เถ้าหนัก เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เพื่อการผลิตของโรงงานขนาดเล็ก-ขนาดกลาง และมักถูกนำมาทิ้งยังหลุมฝังกลบ ซึ่งเมื่อมีปริมาณมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน และเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทีมนักวิจัย MIT จึงหาวิธีใช้ประโยชน์จากเถ้าหนัก ด้วยการนำเถ้าหนัก และเทคโนโลยีอัลคาไล (alkali-activation technology) มาบูรณาการเข้าด้วยกัน
เทคโนโลยีดังกล่าว ใช้เถ้าหนักเช่นเดียวกับอลูมิโนซิลิเกต หรือแร่ดินเหนียว (alumino-silicate) ผสมกับสารละลายอัลคาไล (alkaline activator solution) ตามด้วยวัสดุเชื่อมประสานจีโอโพลิเมอร์ (geo-polymer gel) และ ขึ้นรูปแบบ 3มิติ ช่วยให้อิฐทางเลือกมีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น
การผลิตอิฐทางเลือก "Eco-BLAC" จึงนับเป็นโซลูชั่นสำคัญในการช่วยลดขยะอุตสาหกรรม ซึ่งมีมากถึง 70% ในการผลิตแบบเดิม และเปลี่ยนการเผาไหม้ในกระบวนการผลิต ให้เป็นกระบวนทางการเคมีแทน ซึ่งอิฐทางเลือกจะสามารถแข็งตัวได้ด้วยอุณหภูมิปกติ ลดการบริโภคถ่านหิน ซึ่งแต่เดิมต้องใช้มากถึง 24 ล้านตัน/ปี และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 76 ล้านตัน/ปี ในการเผาอิฐมอญ นอกจากนี้ยังลดการปล่อยก๊าซพิษอื่นๆ พ่วงด้วย ทั้งคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ เขม่าดำ ฯลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นักทีมนักวิจัย MIT ระบุด้วยว่า การผลิตอิฐทางเลือก "Eco-BLAC" จะช่วยให้สุขภาพของคนในท้องถิ่นดีขึ้น 24% ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือโลกร้อนจะดีขึ้น 15% และดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ดีขึ้น 33% ทั้งยังหวังว่า กระบวนการผลิตอิฐทางเลือกนี้ จะสามารถแทนที่การเผาอิฐได้ในอนาคต เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และยกระดับการดำรงชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น
Source: www.archdaily.com Images Courtesy of MIT Tata Center
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.BuilderNews.in.th
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.