ธปท.กระตุ้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด่วนที่สุด ธปท.ระบุ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัว ไตรมาส 2 ปีนี้ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก แต่การส่งออกยังทรุดจ่อปรับลดประมาณการลงอีกรอบต่ำกว่า–1.5% ชี้ค่าบาทอ่อนอาจจะเริ่มมีผลดีต่อบางสินค้าในไตรมาสที่ 3 ขณะที่ภาคลงทุน–ผลิตยังติดลบ ชี้หากรัฐเร่งโครงการขนาดใหญ่ได้เร็ว เรียกความเชื่อมั่นได้ นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังอยู่ในภาวะซึมๆตัว เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่แนวโน้มที่ดีขึ้นคือการใช้จ่ายภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวเล็กน้อย โดยการส่งออก การนำเข้า การลงทุน และภาคการผลิต ยังคงขยายตัวติดลบ ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลข 3 เดือนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เทียบกับไตรมาสแรก เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรก ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมาก 53.1% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงของการรัฐประหาร ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และมาเลเซียยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เดือน มิ.ย.นี้ ภาครัฐสามารถใช้จ่ายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะงบลงทุนที่ใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น 46.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้การใช้จ่ายรวมภาครัฐเพิ่มขึ้น 22.3% นอกจากนั้น แนวโน้มที่ดีขึ้นในเดือนนี้ คือ การใช้จ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะในสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค และการใช้จ่ายภาคบริการ เช่น โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ รวมทั้ง การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือน มิ.ย.กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.9% เทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ยังติดลบไม่มากที่ -0.6% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน “อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า รายได้ของเกษตรกรที่ปรับลดลงอีก 10.6% ในเดือน มิ.ย.ซึ่งนับจากต้นปีเป็นการลดลงติดต่อกัน 6 เดือน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ดีขึ้น และการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะภาคที่อยู่อาศัย ส่งผลให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก” นางรุ่งกล่าวต่อว่า ภาคการส่งออกเดือน มิ.ย.ขยายตัวติดลบสูงถึง 8.9% โดยเป็นการติดลบในทุกภาคอุตสาหกรรม ยกเว้นภาคเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยการส่งออกที่ลดลงเป็นไปตามความ ต้องการซื้อของโลกที่ลดลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มเติมเข้ามา ส่วนการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้น ในขณะนี้ยังไม่เห็นผลต่อมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากนัก แต่ได้ผลดีในส่วนที่รายได้เป็นเงินบาทของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นจากที่ ธปท.ได้สอบถามผู้ประกอบการ พบว่าผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า จะเริ่มส่งผลดีต่อการส่งออกบางสินค้าให้เห็นชัดเจนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ “เมื่อกำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่เข้มแข็ง ขณะที่ภาคธุรกิจเลือกที่จะระบายสินค้าคงคลังออกให้มากที่สุด การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.จึงยังติดลบ 8% เทียบกับปีก่อน ขณะที่ติดลบ 3.5% เทียบกับเดือนก่อนหน้า สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนส่วนใหญ่เป็นการซ่อมแซมหรือ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแต่การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายกำลังการผลิตถูกเลื่อนไปก่อน รอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.9% เทียบกับปีก่อน”
ต่อข้อถามที่ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด 6 มาตรการ และการเร่งรัดลงทุนของรัฐบาลจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มได้หรือไม่ นางรุ่ง กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐขณะนี้เป็นการลงทุนในโครงการขนาดเล็กๆ เช่น ชลประทาน และซ่อมสร้าง แม้จะมีเม็ดเงินออกไปเท่าๆกัน แต่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ไม่มาก แต่หากเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจและก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนได้มากขึ้น และเมื่อถามว่า เมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจใน 6 เดือนแรกแล้ว ธปท.ประเมินอย่างไร นางรุ่งกล่าวว่า ในส่วนของการส่งออก น่าจะมีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกลงอีก จากที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 1.5% แต่ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับลดลงมาเหลือการขยายตัวที่ 3% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากจะมีการปรับลดลงอีกคงเป็นการปรับเล็กน้อยให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์