"ประจิน" เร่งเสนอครม. ขออนุมัติรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง สั่งปลัดคมนาคม ประสาน สผ. เร่งอนุมัติ EIA ตั้งเป้าเปิดประมูล มิ.ย.59 ขณะที่ล่าสุด กลุ่มซีพี และไทยเบฟฯ ยืนยันพร้อมร่วมลงทุน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 81,136 ล้านบาท และ กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กิโลเมตร วงเงิน 152,448 ล้านบาท ว่า ตามแผนงาน กระทรวงเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันทั้ง 2 เส้นทาง โดยในส่วนของขั้นตอนการพิจารณารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น ได้มอบหมายให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ประสานกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอเร่งรัดการจัดทำ EIA ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากปกติต้องใช้เวลาศึกษาพิจารณาประมาณ 1-2 ปี พร้อมกันนี่ ให้ปลัดกระทรวงคมนาคมประสานกับสำนักเลขาธิการ ครม. เพื่อหารือว่าจะนำเสนอโครงการเข้า ครม.แบบมีเงื่อนไข คือ ขออนุมัติโครงการรอไว้ก่อนโดยจะดำเนินการก่อสร้างต่อเมื่อได้รับอนุมัติ EIA ได้หรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่ม ซีพี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบอีก เพื่อรายงานความคืบหน้าว่า บริษัท ได้จัดเตรียมข้อมูลและรายละเอียดโครงการไว้พร้อมแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเคยระบุไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นหากรัฐบาลเปิดประกวดราคาเอกชน จะพร้อมเข้ายื่นข้อเสนอทันที “เป้าหมาของกระทรวงคมนาคม ต้องการดำเนินโครงการไฮสปีดเทน 2 เส้นทางไปพร้อมๆ กัน จึงจะพยายามเสนอครม.พร้อมกัน โดยจะเสนอครม. แบบมีเงื่อนไข จากเดิมที่ต้องให้ผ่านการพิจารณา EIA ก่อนจึงจะเสนอครม.เพื่อขออนุมัติ และประกวดราคาได้ ซี่งอาจจะล่าช้ามาก ดังนั้นจะเสนอครม.ขออนุมัติ ประกวดราคาไปพรางก่อน แต่จะก่อสร้างได้ก็ต่อเมื่อ ผ่านEIA แล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่าทาง ครม.จะยอมหรือไม่” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ตามกรอบเวลาเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประกวดราคาทั้ง 2 เส้นทางได้ในเดือนมิ.ย.2559 เนื่องจากหากครม.เห็นชอบแล้ว ยังมีขั้นตอนการจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) และการดำเนินการตามรูปแบบรัฐกับเอกชนลงทุนร่วมกัน ( PPP) ด้วย ทั้งนี้ กลุ่ม ซีพีได้ยื่นข้อเสนอแสดงความสนในการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยร่วมกับ บริษัท CITIC Construction Co.,Ltd. จากประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทด้านก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุนครบวงจร และบริษัท ไหหนาน กรุ๊ป (HNA Group) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเรือ สนามบินและรถไฟ โดยแจ้งว่ามีความเชี่ยวชาญในการการดำเนินงานในรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) คือ ก่อสร้างเสร็จแล้ว บริหารตามสัญญาสัมปทาน แล้วจึงโอนกิจการเป็นของรัฐ

ขอบคุณข้อมูลจาก : manager.co.th