"คมนาคม"สรุปยกสะพานนวลฉวีขึ้นอีก 85 ซม. เผยกรมทางหลวงตั้งงบปี 59 จำนวน 160 ล้านบาท ดำเนินการเล็งปิดตั้งแต่ม.ค. 59 เป็นเวลา 6 ด.เร่งประสาน จ.นนทบุรี จัดเส้นทางเบี่ยงทดแทน เผยเป็นข้อสรุปหลังผู้ประกอบการร้องขอให้ยกสะพานข้ามเจ้าพระยา 3 แห่งที่เป็นอุปสรรคเดินเรือสินค้า นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้ข้อสรุปการปรับยกระดับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่ง คือสะพานนนทบุรี (สะพานนวลฉวี) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) โดยได้ตั้งงบประมาณปี 2559 จำนวน 160 ล้านบาทเพื่อดำเนินการ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการเอง ยกระดับสะพานขึ้น 85 เซนติเมตรจากระดับเดิม ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2559 เป็นต้นไป ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ซึ่งจะต้องมีการปิดสะพาน โดยกรมทางหลวงจะต้องวางแผนการจราจรร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ และ จังหวัดนนทบุรี เพื่อหาเส้นทางเบี่ยงทดแทน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำเสนอยกระดับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แห่ง ได้แก่ สะพานพระพุทธยอดฟ้า (สะพานพุทธฯ) สะพานกรุงธนบุรี (ซังฮี้) ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สะพานนนทบุรี (สะพานนวลฉวี) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อแก้ปัญหาเดินเรือช่วงน้ำขึ้น โดยการศึกษาพบว่า สะพานนนทบุรีตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำทะเลและน้ำจืดมาบรรจบกัน เมื่อน้ำทะเลหนุนจึงเกิดการดันกับน้ำจืด ทำให้น้ำเอ่อและการลดระดับจะใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องดำเนินการยกระดับ ส่วนสะพานพุทธฯและสะพานซังฮี้ นั้น ตั้งอยู่ลึกเข้ามาด้านใน จึงไม่มีปัญหา ระดับน้ำขึ้นลงเร็ว และทั้ง 2 สะพานตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นใน มีปริมาณจราจรหนาแน่นการปิดสะพานเพื่อยกระดับขึ้นนั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน – 1ปี ดังนั้นหากต้อวปิดสะพานจะมีผลกระทบสูง อีกทั้งสะพานทั้ง 2 แห่ง อายุมากมีสภาพเก่า การยกสะพานไม่คุ้มค่า “กระทรวงคมนาคมได้ประชุมกับกรมเจ้าท่า และสรุปกันไปแล้วว่า จะยกสะพานนวลฉวี เท่านั้น เพราะเป็นจุดที่น้ำเค็มกับน้ำจืดมาเจอกันพอดีเกิดการดันกัน น้ำเอ่อและขึ้นลงช้า ทำให้มีปัญหากระทบต่อการเดินเรือสินค้า อย่างไรก็ตาม การเดินเรือสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยวิธีอื่นๆ เช่น กำหนดเวลาเดินเรือให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของน้ำ หรือใช้เทคโนโลยีปั๊มน้ำเข้าเรือเพื่อลดระดับเรือในขณะลอดใต้สะพาน หรือปรับโครงสร้างเรือโดยละระดับที่พักด้านบนเรือ เพื่อไม่ให้ติดสะพาน เป็นต้น”

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.painaidii.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : manager.co.th