วันนี้! คมนาคมนัดถกแนวทางจัดหาบริษัทเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ส.ค.2558) จะหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการจัดหาบริษัทเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน เส้นทางหัวลำโพง - บางแค และ เส้นทางบางซื่อ -ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท แม้ขณะนี้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดำเนินการเสร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 60 แต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่การจัดหาบริษัทเดินรถยังไม่ได้ แม้ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเห็นว่าแนวทางว่าการเจรจากับบริษัทเอกชนที่ได้สัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบันจะช่วยทำให้ลดขั้นตอนและร่นระยะเวลาจัดหาบริษัทเดินรถได้มากกว่าการเปิดประมูล
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบให้ใช้วิธีเปิดประมูลเป็นการทั่วไป กระทรวงคมนาคมจึงพร้อมพิจารณาตามมติของสภาพัฒน์ รวมถึงประเด็นที่สภาพัฒน์เปิดช่องให้ทำตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 แต่ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรในช่วงกรอบระยะเวลาที่จะต้องเปิดเดินรถให้ทันในปี 2562 ตามกำหนด เบื้องต้นแม้จะมีแนวทางที่จะดำเนินการอยู่แล้วแต่กระบวนการต่าง ๆ อาจล่าช้าออกไปประมาณ 2 ปี
“เมื่อสภาพัฒน์ มีมติชัดเจนแล้ว ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็พร้อมที่จะดำเนินการ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความเห็นจากกระทรวงการคลังแต่ตามกฎหมายแล้วหากมีการท้วงติง หรือ มีมติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางกระทรวงก็ต้องดำเนินการตามมตินั้น เบื้องต้นไม่ได้มีปัญหาอะไรเพียงแต่วันพรุ่งนี้จะต้องหารือกันว่าตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่จะทำอย่างไรให้ทัน
ทั้งนี้ไม่อยากปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานก่อสร้างไปเสร็จแล้วแต่ขบวนรถยังจัดหาไม่ทัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและความคุ้มค่าที่ได้ที่ลงทุนไปแล้ว กระทรวงคมนาคมไม่มีปัญหาว่าจะเจรจากับเอกชนหรือจะประมูลเพียงแต่ขอให้มีความชัดเจนเพราะหากยิ่งล่าช้าก็จะเดินหน้าโครงการไม่ได้ ในการหารือในวันพรุ่งนี้คาดว่าจะมีรายละเอียดที่จะต้องดำเนินการได้ชัดเจนมากขึ้น” ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว
ขั้สำหรับนตอนหลังจากได้ข้อสรุปในวันนี้ กระทรวงคมนาคมจะส่งเรื่องให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ดำเนินการและรายงานสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง รวมถึง แจ้งต่อคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) และ คณะรัฐมนตรีให้รับทราบ ตามขั้นตอน
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และ รฟม. ให้เหตุผลที่ต้องใช้วิธีเจรจาแทนการประมูลว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าโดยสารแรกเข้าเฉลี่ยคนละ 16 บาท, การไม่ต้องสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแห่งใหม่ มูลค่า 4,000 ล้านบาทและไม่ต้องจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเต็มจำนวน ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อการกำหนดค่าโดยสารที่มีอัตราต่ำได้และค่าบริหารจัดการเดินรถที่ลดลง สำหรับเส้นทางนี้จะเปิดให้บริการประมาณปี 2562 ล้าช้ากว่ากำหนดเดิมที่ในปี 2560
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.springnews.co.th
ขอบคุณข้อมูลจาก : manager.co.th
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.