อย่ากระตุ้นเศรษฐกิจพร่ำเพรื่อ “ปรีดิยาธร” ชี้ถมเงินเท่าไรไม่พอเก็บใช้วันหน้า
“ปรีดิยาธร” แทงกั๊กขอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคลัง ที่จะเสนอ ครม.ก่อน อ้างใส่เงินไปช่วงนี้เงินจะหาย เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่รู้ต่ำสุดเมื่อใด ชี้ไทยต้องเก็บเงินไว้อุดจุดอ่อนในอีก 2 ปี ด้านแบงก์ชาติ เผยผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจ ระบุไตรมาส 3 ยัง ไม่เห็นสัญญาณธุรกิจฟื้น หลังคนไทยระวังใช้จ่าย จี้รัฐเร่งลงทุนขนาดใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ยังไม่เห็นรายละเอียดของ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อย่างไรก็ตาม เรื่องที่กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม. ต้องผ่านการลงนามของตนก่อน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะเสนอกระตุ้นด้วยอะไร จะได้ผลหรือไม่ และต้องดูเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ที่ผ่านมา บางมาตรการเป็นมาตรการระยะยาว แต่ถูกเรียกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเป็นมาตรการระยะสั้น
“รัฐบาลต้องช่วยเหลือในจุดที่อ่อนที่สุดก่อน คือ ชาวนาที่ปลูกข้าวแล้ว 8 ล้านไร่ เป็นข้าวที่ปลูก ในเขตชลประทาน 4.5 ล้านไร่ บางส่วนไม่ได้รับน้ำ คาดจะมีนาข้าวเสียหาย 1.5 ล้านไร่ รัฐบาลจะชดเชยให้เฉพาะในพื้นที่ชลประทานที่ปลูกข้าวแล้ว แต่ไม่มีน้ำเลี้ยงข้าว โดยจะชดเชยให้ตามอัตราที่แท้จริง ไม่ได้ชดเชยด้วยการให้ปัจจัยการผลิต เพราะเชยไปแล้ว ส่วนเกษตรกรที่รอฝน ยังไม่ปลูกข้าว หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำผิวดิน ไม่มีปัญหา ไม่ต้องชดเชย”
ส่วนอัตราเงินเฟ้อติดลบนั้น เป็นกันทั้งโลก จากราคาน้ำมันลดลง ทำให้ราคาทอง เหล็ก ทองแดง โลหะทุกชนิดลดลงตาม รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรด้วย นักเศรษฐศาสตร์ยังตอบไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะต่ำสุดเมื่อใด นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงเร็ว จากเดิมที่ราว 90 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 120-130 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้กระทบต่อการส่งออก นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีก 2 ปี ระหว่างนี้ไทยต้องดูแลตัวเองให้อยู่รอด อย่าผลีผลาม จะเกิดความเสี่ยง หากจะใส่เงินในระบบเศรษฐกิจช่วงนี้เงินจะหายไปเลย ควรใส่เงินในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น
สำหรับการใช้มาตรการการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้การลดดอกเบี้ยมากระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน เพราะจะทำให้หนี้ครัวเรือนมากขึ้น ขณะเดียวกันจะยุให้ภาคเอกชนลงทุนในช่วงที่กำลังซื้อหดตัว ก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นหนี้ “ต้องติดตามเศรษฐกิจโลกใกล้ชิด และต้องอดทนในการบริหาร เพราะการออกมาตรการกระตุ้นด้วยการใช้เงินมาอุดเศรษฐกิจในช่วงที่ชะลอตัว จะไม่ได้ใช้เงินเพียงแค่ปีเดียว แต่ต้องใช้เงินถึง 2 ปี จึงต้องเก็บเงินไว้อุดจุดอ่อนในอนาคตด้วย ที่ผ่านมา มีคนถามว่า ทำไมไม่ใช้เงินให้หมด เพราะถ้าทำอย่างนั้น ในวันหน้าจะไม่มีเงินเหลือมาดูแลเศรษฐกิจ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจถึงแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 3 ปีนี้ และภาวะธุรกิจไตรมาส 2 ณ สิ้นเดือน ก.ค.58 พบว่าไตรมาส 2 ผู้ประกอบการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังทรงตัว การบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เพราะกำลังซื้อผู้มีรายได้น้อยอ่อนแอ จากหนี้ครัวเรือนสูงและรายได้เกษตรกรต่ำ ส่วนผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง แม้มีกำลังซื้อ แต่ยังขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคต จึงระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ยังเพียงพอ ส่วนการส่งออกชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในตลาดระดับบน อาทิ คอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญพยุงเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 3 ยังไม่เห็นการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ส่วนใหญ่ประเมินว่าการบริโภคจะฟื้นตัวในปี 59 จากเดิมที่คาดอาจฟื้นตัวในปีนี้ เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่สำคัญ โดยยอดขายสินค้ายังไม่ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรที่สะท้อนรายได้ภาคเกษตรยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับ มีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภัยแล้งรุนแรงกว่าปีก่อน และการส่งออกซบเซา ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัว เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอลงทุนขนาดใหญ่ แต่มีสัญญาณลงทุนในบางกลุ่มธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ พลังงานทดแทน และค้าปลีก-ส่งขนาดใหญ่ แต่ผู้ประกอบการบางส่วนจะออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
ด้านการส่งออกยังซบเซาต่อเนื่อง ผู้ประกอบการมองว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงยังไม่ส่งผลให้ปริมาณคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่คาดว่าในไตรมาส 3 ธุรกิจส่งออกบางส่วนจะเริ่มได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนค่า อาทิ ข้าว อาหารสำเร็จรูป ขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มทรงตัว ตามแนวโน้มการลงทุนที่ทรงตัวต่อเนื่อง โดยบางกลุ่มธุรกิจจะลดแรงงานลง แต่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่มีการขยายสาขา และธุรกิจบริการท่องเที่ยวยังมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น อาจทดแทนการจ้างงานที่ลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังรอความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ โดยหวังว่าการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ จะเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.