ภาษีมรดกใช้ม.ค.ปี 59 รับจากบุพการี-ผู้สืบสันดานเกิน 100 ล้าน เสีย 5%
รองโฆษกรัฐบาลเผยภาษีมรดก บังคับใช้ ม.ค.ปีหน้า กรณีรับมรดกจากบุพการี หรือผู้สืบสันดาน 100 ล้านขึ้นไป เสีย 5% ส่วนการให้โดยเสน่หาก่อนผู้ให้จะเสียชีวิตเข้าข่ายเป็นภาษีการรับให้ เกินกว่า 10 ล้าน จ่าย 5% กำหนดยื่นสำแดงภายใน 150 วันหลังรับมรดก...
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ว่าด้วยภาษีการรับให้ ในกรณีที่โอนทรัพย์สมบัติก่อนผู้ให้เสียชีวิต ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 โดย พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในเดือน ม.ค. 2559
ทั้งนี้ กฎหมายเรียกเก็บภาษีจากการรับมรดกและการยกให้โดยเสน่หา ถือเป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ที่นานาอารยประเทศมีใช้กัน สำหรับประเทศไทยมีความพยายามผลักดันมายาวนาน แต่ไม่สามารถเป็นผลได้จริง เพิ่งจะมาสำเร็จในรัฐบาลนี้ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเจตนาที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมให้ได้มากที่สุดในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกฎหมายเก็บภาษีมรดกถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากฉบับหนึ่ง เพราะจะเป็นการจูงใจให้กลุ่มผู้มีฐานะดี บริจาคเงินเพื่อองค์กรการกุศลและสาธารณประโยชน์มากขึ้น ลดการสะสมทรัพย์เพื่อเป็นมรดก
ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้รุ่นลูกหลานได้แสดงความสามารถในการทำงานสร้างฐานะของตนเอง มากกว่ารอรับมรดกเพียงด้านเดียว โดยเชื่อว่าการเรียกเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจในสังคมได้ รวมทั้งจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็นงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศ
สำหรับภาษีการรับมรดกกำหนดให้ผู้รับมรดกต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาทในอัตรา 10% แต่ถ้าเป็นการรับมรดกจากบุพการี หรือผู้สืบสันดาน จะเสียในอัตรา 5% นอกจากนี้ ยังประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีการรับให้ควบคู่กัน เพื่ออุดช่องว่าง กรณีการให้โดยเสน่หา ที่ปัจจุบันไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น หากมีการโอนทรัพย์สมบัติให้ก่อนผู้ให้จะเสียชีวิตจะเข้าข่ายเป็นภาษีการรับให้ ซึ่งต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทในอัตรา 5% แต่หากเป็นกรณีบุพการีให้ผู้สืบสันดานกำหนดให้จ่ายภาษีส่วนที่เกิน 20 ล้านในอัตรา 5%
"ผู้รับมรดกจะต้องยื่นสำแดงภาษีภายใน 150 วันหลังจากที่รับมรดก ส่วนทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมี 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 1. บ้าน และที่ดิน 2. เงินฝากธนาคาร 3. หุ้นและหุ้นกู้ 4. รถยนต์ และ 5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งข้อนี้เป็นการเปิดโอกาสจัดเก็บภาษีจากทรัพย์อื่นๆ เพราะยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะมีทรัพย์สินหรือธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง"
อย่างไรก็ตาม การเสียภาษีจะประเมินทรัพย์ทุกประเภทและมูลค่าที่ได้รับรวมกัน แม้จะรับไม่พร้อมกัน ก็ต้องถูกนำมาประเมินรวมกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน หุ้น เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน รถยนต์ ตราสารการเงินอื่นๆ โดยในการประเมินราคาที่ดินจะอ้างอิงราคาจากกรมที่ดิน หากเป็นหุ้นคิดในราคาตลาด ณ วันที่ได้รับหุ้นมา เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติมากที่สุด.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.