สินเชื่อ​ซบ​คน​ไม่​กล้า​กู้​แบงก์​ไม่​กล้า​ปล่อย ผู้สื่อข่าว​รายงาน​ว่า ธนาคาร​แห่ง​ประเทศไทย (ธปท.) ได้​รายงาน​สถานการณ์​การ​ให้​บริการ​บัตร​เครดิต​ของ​ระบบ​ธนาคาร​พาณิชย์​และ​บริษัท​ประกอบ​ธุรกิจ​บัตร​เครดิต​ที่​มิ​ใช่​สถาบัน​การเงิน (นอน​แบงก์) ล่า​สุด ณ สิ้น​เดือน มิ.ย.​ หรือ​สิ้น​ไตรมาส 2 ปี​นี้ ว่า ยอด​ใช้​จ่าย​ผ่าน​บัตร​หด​ตัว​เมื่อ​เทียบ​กับ​ไตรมาส​ก่อน​หน้า โดย​ใช้​จ่าย​รวม 133,000 ล้าน​บาท ลด​ลง 8,783 ล้าน​บาท เมื่อ​เทียบ​กับ​ไตรมาส​ก่อน​หน้าที่​มี​ยอด​การ​ใช้​จ่าย​ผ่าน​บัตร​รวม 142,000 ล้าน​บาท แบ่ง​เป็น ใช้​จ่าย​ผ่าน​บัตร​ใน​ประเทศ  109,000 ล้าน​บาท ลดลง 6,825 ล้าน​บาท ใช้​จ่าย​ผ่าน​บัตร​ใน​ต่าง​ประเทศ 8,913 ล้าน​บาท ลด​ลง 625 ล้าน​บาท และ​การ​กด​เงินสด​จาก​บัตร​เครดิต 14,800 ล้าน​บาท ลด​ลง 1,332 ล้านบาท​ ส่วน​ยอด​สินเชื่อ​บัตร​เครดิต​รวม 297,000 ล้าน​บาท เพิ่ม​ขึ้น 4,596 ล้าน​บาท เมื่อ​เทียบ​กับ​ไตรมาส​ก่อน ซึ่ง​เป็น​การ​ชะลอ​ตัว​ของ​สินเชื่อ​บัตร​เครดิต​ต่อ​เนื่อง​ตั้งแต่​ปี​ก่อน​หน้า ตาม​การ​ชะลอ​ตัว​ของ​เศรษฐกิจ โดย ธปท.​ได้​รายงาน​ตัวเลข​หนี้​ที่​ไม่​ก่อ​ให้​เกิด​ราย​ได้ (เอ็น​พี​แอล) ของ​สินเชื่อ​บัตร​เครดิต​ไตรมาส 2 มี​เอ็น​พี​แอล​รวม 9,593 ล้าน​บาท เพิ่ม​ขึ้น 660 ล้าน​บาท ขณะ​ที่​ยอด​สินเชื่อ​ส่วนบุคคล​ทั้ง​ระบบ​มี​บัญชี​สินเชื่อ​ทั้งสิ้น 12.32 ล้าน​บัญชี เพิ่ม​ขึ้น​จาก​ไตรมาส​ก่อน​หน้า 519,000 บัญชี มี​ยอด​สินเชื่อ​คง​ค้าง​ทั้งสิ้น 317,000 ล้าน​บาท เพิ่ม​ขึ้น 3,918 ล้าน​บาท โดย​สินเชื่อ​ที่​ลด​ลง​เป็น​เพราะ​ลูกหนี้​ชะลอ​การ​ก่อ​หนี้​เพิ่ม ขณะ​เดียวกัน​ เกิด​จาก​ความ​ระมัดระวัง​ใน​การ​ปล่อย​สินเชื่อ​ของ​ธนาคาร​พาณิชย์​ด้วย เพราะ​ไม่​แน่ใจ​ใน​การ​ฟื้นตัว​ของ​เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ​หนี้​เอ็น​พี​แอล​ที่​เป็น​สินเชื่อ​บุคคล​นั้น ถือว่า​เพิ่ม​ขึ้น​ไม่​มาก เพราะ​มี​การ​ปรับ​โครงสร้าง​หนี้​ตั้งแต่​เริ่ม​เห็น​การ​ขาด​ส่ง เพื่อ​ให้​ลูกหนี้​ที่​เริ่ม​มี​ปัญหา​สามารถ​กลับ​มา​ผ่อนส่ง​ได้.

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ไทยรัฐออนไลน์