จีนช็อกตลาดลดค่าหยวน 1.9%
ส่งออก-ท่องเที่ยวไทยโอดหวั่นแข่งขันยากขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศอัตรากลางของค่าเงินหยวนประจำวัน (Daily Fixing) ที่ระดับ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์ สรอ.ซึ่งอ่อนค่าลงจากวันก่อนที่ 6.1162 หยวนต่อดอลลาร์ สรอ. ประมาณ 1.9% ถือเป็นการลดค่าเงินหยวนครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประกาศอัตรากลางที่อ่อนลงดังกล่าวเป็นผลของการเปลี่ยนวิธีการกำหนดค่ากลางใหม่ให้สอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเงินของจีนที่จะค่อยๆปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยหลังการประกาศเงินหยวน (CNY spot rate) อ่อนค่าลง 1.7% จากอัตราปิดวันก่อนหน้า ส่งผลให้เงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้ง เงินบาทอ่อนค่าตามไปด้วย โดยในช่วงเช้าเงินวอน เกาหลีใต้อ่อนค่าลง 1% เงินดอลลาร์ สิงคโปร์อ่อนค่าลง 0.7% เงินบาทอ่อนค่าลง 0.35% เนื่องจากตลาดมองว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนสูง ทั้งนี้ ตลาดการเงินโลกอาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นนี้ ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบ ซึ่ง ธปท.จะติดตามค่าเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางของจีนปรับลดค่าเงินหยวนลงเพื่อแก้ปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัวลงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก แต่สิ่งที่กังวลคือการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมากกว่า เพราะหากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงเป็นเรื่องที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ห่วง “ส่งออก-ท่องเที่ยว” นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำประเทศจีน ว่า เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ของใช้ในบ้าน ที่มีราคาสูงขึ้น แต่สินค้าส่วนใหญ่ที่จีนนำเข้าจากไทยจะเป็นวัตถุดิบที่นำไปผลิตสินค้าต่อ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะจีนต้องนำเข้า ส่วนอาหารเชื่อว่าจีนให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ ซึ่งอาหารไทยมีคุณภาพ จีนจะยังคงนำเข้าอยู่ “การลดค่าเงินหยวนจะทำให้จีนมีศักยภาพการส่งออกมากขึ้น กระทบกับการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยในตลาดอื่นๆ แน่นอน ทั้งนี้กระทรวงฯจะติดตามค่าเงินในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะแต่ละประเทศใช้นโยบายลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออก ดังนั้น แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงมา แต่คงไม่ได้เปรียบคู่แข่ง หากคู่แข่งมีค่าเงินที่อ่อนกว่า” ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีที่จีนลดค่าเงินหยวนลง 1.92% คาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะสาเหตุที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวนก็เพื่อให้การส่งออกดีขึ้น และช่วยดูแลเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวดีขึ้น จีนจึงต้องมีการนำเข้าสินค้าเพื่อนำไปผลิตและส่งออกมากขึ้น ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าเพื่อการผลิตของจีน ดังนั้น การส่งออกของไทยจึงจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นสินค้าส่งออกเพื่อบริโภคอันนี้กระทบแน่นอน สำหรับการท่องเที่ยวไทยนั้น ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบบ้าง เพราะนักท่องเที่ยวจีนต้องใช้จำนวนเงินในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ไม่น่าจะมากนัก เพราะไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย รองกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวถึงผลกระทบการประกาศลดค่าเงินหยวนของจีนว่า ผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าไปจีนจะมีราคาแพงขึ้น รวมทั้งตลาดสินค้าส่งออกไทยที่แข่งขันกับสินค้าจีน อาจได้รับผลกระทบทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดได้ เพราะราคาสินค้าจีนจะถูกลงกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของเรา โดยไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วน 12% ซึ่งอาจกระทบบ้างแต่คงไม่มาก หวั่นสินค้าจีน “ทุ่ม ตลาดโลก” นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าลง 2% ของค่าเงินหยวน น่าจะเป็นการปรับฐานค่าเงินให้สมดุลกับค่าเงินสกุลต่างๆของโลก ซึ่งหากอ่อนค่าลงเพียงแค่ 2% การส่งออกของไทยยังแข่งขันได้ แต่ถ้าอ่อนค่าลงมากกว่านี้ ผู้ส่งออกไทยจะลำบากมากขึ้น เพราะราคาสินค้าของจีนจะถูกกว่าของไทยมากขึ้นอีกจากปกติก็ถูกกว่าอยู่แล้ว และแข่งขันยาก เพราะจีนเป็นคู่แข่งของไทยในสินค้าหลายชนิด และในแทบทุกตลาด ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยคงต้องขยันทำตลาดมากขึ้นอีก ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลจากการที่จีนลดค่าเงินหยวนลง 2% หากมองในแง่ดีอาจส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าได้ในมูลค่าที่สูงขึ้น แต่ในแง่ลบอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนโดยตรง เพราะจีนต้องนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้จีนอาจชะลอการนำเข้า หรือหาแหล่งสินค้าที่ถูกกว่าไทยได้ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง และอาจจะเกิดปัญหาสินค้าจีนออกมาทุ่มตลาดในตลาดโลก ซึ่งสุดท้ายก็ต้องดูว่าไทยจะปรับลดต้นทุนเพื่อรักษาตลาดและความสามารถแข่งขันได้หรือไม่ ด้านนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร ที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยถึงกรณีเงินหยวนว่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เนื่องจากราคาแพ็กเกจทัวร์จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบจะส่งผลเพียงในระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะตลาดจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวได้เร็ว แนะประกันความเสี่ยงค่าเงิน ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าและเป็นการเคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งมีปัจจัยจากเงินหยวนของจีน โดยสิ้นปีนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากมีปัจจัยจากจีนส่งผลกระทบอย่างแรง ค่าเงินบาทอาจหลุด 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้กรอบความผันผวนค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 0.73 บาท ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่จีนเคยปรับลดค่าเงินหยวนมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินหยวนได้แข็งค่าขึ้น 2% เกิดจากจีนได้ผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น 2% ส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นด้วย โดยในส่วนของผู้ประกอบการนำเข้าของไทย ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ควรซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หากต้องการปิดความเสี่ยงค่าเงินทั้งหมดควรซื้อเต็มจำนวน แม้ว่าในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนค่าธรรมเนียมในการซื้อประกันความเสี่ยงปรับขึ้นก็ตาม นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลจากจีนปรับลดค่าเงินหยวน 1.9% ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามาอยู่ที่ 35.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปิดตลาดวันก่อนที่ 35.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยไม่มาก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า 7% ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีนเทียบเงินดอลลาร์อ่อนค่า 2% แต่หากค่าเงินหยวนของจีนเทียบกับเงินดอลลาร์อ่อนค่า 5% จึงจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการของไทย.
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.