จีนประกาศสงครามค่าเงินเต็มตัว ค่าเงินหยวน 3 วัน ลดค่าลง 4.7% หอการค้าไทยคาดส่งออกติดลบหนัก 4—6% ขณะที่คลัง—แบงก์ชาติ มั่นใจทุนสำรองแข็งแกร่งรับมือสงครามค่าเงินได้ “สมหมาย” แนะนายกรัฐมนตรีฉวยจังหวะเศรษฐกิจจีนชะลอ ตั้งสติฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ แบงก์พาณิชย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากจีนประกาศลดค่าเงินหยวนเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง 3 วันติด และกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางจีนออกมาระบุว่าไม่มีเหตุผลที่ค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงต่อไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มียอดเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีฐานะการคลังแข็งแกร่ง และมีปริมาณทุนสำรองจำนวนมหาศาล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาทำนองว่า มีบุคคลสำคัญบางคนในรัฐบาลจีนกำลังกดดันเงินหยวนให้ร่วงลงต่อ โดยต้องการให้อ่อนค่าลงเกือบ 10% ท่าทีของธนาคารกลางจีนดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วเอเชียผงกหัวขึ้น กลับมาปิดตลาดในแดนบวกได้เกือบทั้งหมด หลังปรับตัวลงแรง 2 วันติด (11-12 ส.ค.) รวมทั้งตลาดหุ้นยุโรปก็เปิดตลาดวันที่ 13 ส.ค.ในแดนบวก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยวันที่ 13 ส.ค.เปิดตลาดแดงเถือก เนื่องจากวันที่ 12 ส.ค. ตลาดปิดทำการ โดยระหว่างวันลงไปต่ำสุดที่ 1,382.70 จุด ลดลง 25.62 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อคืนเข้ามาพยุงดัชนีมาปิดทำการที่ 1,404.15 จุด ลดลง 4.17 จุด ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขาย 49,506.22 ล้านบาท

ขุนคลังยกหูหารือแบงก์ชาติ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้โทรศัพท์ไปหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงการดูแลค่าเงินบาทของไทยหลังจากจีนลดค่าเงินหยวนลง 3 ครั้งรวม 4.7% ว่า จะสามารถดูแลได้หรือไม่ โดยผู้ว่าการ ธปท. บอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเงินทุนสำรองของไทยที่อยู่ในระดับ 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการทางการเงินที่มีอยู่ดูแลค่าเงินต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ “หลังจากที่จีนปรับลดค่าเงินหยวน ได้ส่งให้ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯของไทยอ่อนค่าลง 0.25% ค่าเงินริงกิตมาเลเซียเทียบดอลลาร์สหรัฐฯลดลง 4% และค่าเงินอินโดนีเซียเทียบดอลลาร์สหรัฐฯลดลงกว่า 1.6% ถือว่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงน้อยลงกว่าประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีความแข็งแกร่งและต่างชาติยังมีความเชื่อมั่น” ทั้งนี้ ในกรณีที่จีนลดค่าเงินหยวนเป็นเรื่องของจีนต้องการให้เกิดภาวะเท่าเทียมกับกลุ่มใหญ่ๆ คือ สหรัฐฯที่ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ญี่ปุ่นที่ใช้คิวอี และในยุโรปก็ใช้คิวอี แต่จีนใช้คิวอีไม่ได้ เพราะตลาดตราสารหนี้ไม่แพร่หลาย เหมือนกับไทยที่ทำคิวอีไม่ได้ เพราะต่างชาติถือตราสารหนี้แค่ 15% ทำให้จีนใช้วิธีลดค่าเงิน ซึ่งการลดค่าเงินครั้งนี้ถือว่าประหลาดมากเพราะลด 3 ครั้งติดต่อกัน และหวังว่าจะหยุดอยู่แค่นี้ นายสมหมาย กล่าวว่า การดูแลเศรษฐกิจในขณะนี้ ไทยจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางการเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจเชื่อมั่น โดยคนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น คือ ตัวของนายกฯ ไม่ใช่ รมว.คลัง ถ้านายกฯตั้งสติให้ดี แม้เหลือเวลาไม่มาก แต่ก็ยังไม่สาย ช่วงที่จีนลดค่าเงินหยวนเป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะดึงการลงทุนจากต่างชาติ เพราะต่างชาติมองว่าไทยกำลังปรับปรุงโครงสร้างเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา แถมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นั้น คนมองว่าไทยนั้นเป็นพี่เบิ้ม ดังนั้น ไทยต้องใช้โอกาสนี้ เพราะเท่าที่ได้คุยกับนายธนาคารนักลงทุนเขาอยากเข้ามาลงทุนในไทย และแบกเงินมาพร้อมแล้ว รอแต่จะเปิดกระเป๋าเงินเมื่อไหร่

ผวาส่งออกทรุดกว่าเดิม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยจะลดลง มากกว่าที่คาดไว้ อาจติดลบ 4-6% เพราะสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีนมีราคาแพงขึ้น และเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด นอกจากนี้ ไทยจะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนอาจเห็นเงินด้อยค่าลงทำให้ชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยว ทั้งนี้ การที่จีนลดค่าเงินหยวนลงแสดงให้เห็นว่าสงครามค่าเงินได้เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ใช้มาตรการคิวอีเพื่อทำให้ค่าเงินของประเทศอ่อนค่าลง แต่สำหรับประเทศในเอเชียและอาเซียน การจะปรับลดค่าเงินหรือทำให้ค่าเงินอ่อนลงจากปัจจุบัน ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของเศรษฐกิจของประเทศตัวเองไม่เช่นนั้นอาจกระทบกับเศรษฐกิจได้ นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายปรับลดค่าเงินหยวน เพื่อกระตุ้นการส่งออกของจีนที่หดตัวลงอย่างหนัก จะทำการส่งออกของจีนแข่งขันได้ดีขึ้น แต่จะสร้างผลกระทบต่อการส่งออกให้กับไทย เพราะจีนจะนำเข้าสินค้าไทยแพงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบทางตรง ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือศักยภาพการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดโลกเมื่อเทียบกับจีน ก็จะยิ่งถดถอยลง และไทยจะทำการค้ากับจีนลำบากมากขึ้น เพราะค่าเงินที่แกว่งไปมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เป็นห่วงผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวด์) มาไทย แต่ก็ต้องย้ำต่อผู้ประกอบการนำเที่ยวของไทยด้วยว่า ไม่ควรใช้กลยุทธ์การลดราคามาดึงตลาดในช่วงนี้ เพราะยังเชื่อว่าจีนยังเดินทางเข้ามาในปริมาณมากเพียงพอ ประกอบกับที่ผ่านมา แม้ว่าจะทำตลาดจีนได้จำนวนมาก แต่บริษัททัวร์มีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำเพราะราคาที่เสนอขายไม่สูงมากอยู่แล้ว จึงกังวลว่าการลดราคาจะยิ่งเป็นผลกระทบต่อธุรกิจของภาคเอกชนเอง และโดยส่วนตัวมองว่า ยังไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องในเวลานี้ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การลดค่าเงินหยวนของจีนจะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทย 3 กลุ่มสินค้า กลุ่มแรกคือส่วนประกอบและชิ้นส่วนทั้งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่คาดว่าจะได้รับผลดี เพราะจีนนำเข้าสินค้านี้ไปผลิตและส่งออก จะทำให้ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ดีขึ้น เมื่อส่งออกจีนดีขึ้น กลุ่มสองคือกลุ่มสินค้าที่ไทยและจีนจะต้องไปแข่งขันกันในประเทศที่สาม ซึ่งจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพ โดยไทยจะเสียเปรียบในเรื่องราคาที่จีนจะมีราคาถูกกว่า กลุ่มสามคือกลุ่มสินค้าเกษตร อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ส่วนสินค้าอื่นๆที่มีคู่แข่งขัน เช่น ข้าว เชื่อว่าเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินหยวนเหมือนกับไทย คือมีราคาแพงขึ้นเหมือนกัน

ค่าบาทสิ้นปีทะลุ 35.25 บาท
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนจีนลดค่าเงินหยวน ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ วันแรกที่จีนลดค่าเงินหยวน 1.9% เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปที่ 35.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การที่จีนประกาศให้หยวนอ่อนค่า 1.7% ค่าเงินบาทลงไปที่ 35.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อธนาคารกลางของทุกประเทศในเอเชียได้เข้ามาแทรกแซงค่าเงิน เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และวันนี้ (13 ส.ค.) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จีนจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไปกับค่าเงินหยวน เพราะหากปล่อยให้อ่อนค่าลงต่อก็จะส่งผล ให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนตัวลงตามไปด้วย ซึ่งจากเดิมธนาคารประเมินค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้รวมปัจจัยจากจีนลดค่าเงินเข้าไปด้วย ดังนั้นสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าทะลุ 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอน และการปรับลดค่าเงินไม่ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการส่งออก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคต่างปรับตัวลดลง ทำให้ยอดการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้น เพียงแต่สิ่งที่ได้คือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น.

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ไทยรัฐออนไลน์