โพลม.หอการค้าชี้ทุจริตลดสูงสุดรอบ 6 ปี เงินจ่ายใต้โต๊ะหดหาย
ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีคอร์รัปชันไทย มิ.ย.58 สูงสุดรอบ 6 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจ แสดงถึงการทุจริตลดลงมาก โดยจำนวนธุรกิจที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะน้อยลง และสัดส่วนการจ่ายอยู่ 1-15% ของมูลค่างาน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 25-35%
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) เดือน มิ.ย.2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน และข้าราชการ/ ภาครัฐ 2,400 รายทั่วประเทศว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย โดยรวม เท่ากับ 55 เพิ่มขึ้นจากระดับที่ 49 ในการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน เท่ากับ 52 เพิ่มขึ้นจาก 47 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทย เท่ากับ 2558 เพิ่มขึ้นจาก 50 โดยดัชนี CSI เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน นับจากการสำรวจครั้งก่อน
สำหรับเม็ดเงินที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะนั้น พบว่าตั้งแต่ทำการสำรวจปี 2553-2556 สัดส่วนเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการและนักการเมืองเพื่อให้ได้สัญญา เฉลี่ยอยู่ที่ 25-35% ของมูลค่างาน หรือรายรับของผู้ประกอบการ แต่สัดส่วนลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ที่เพียง 1-15% เท่านั้น จากเดือน มิ.ย. 2557 อยู่ที่ 15-25% และเดือน ธ.ค.2557 อยู่ที่ 5-15% อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินจากวงเงินคอร์รัปชันจากงบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งบลงทุนและรัฐวิสาหกิจ ปี 2558 ที่มีมูลค่า 2.57 ล้านล้านบาท แล้ว พบว่า สัดส่วนที่ผู้ประกอบการจ่ายเงินพิเศษ 1-15% นั้น คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญเสียไปกับการคอร์รัปชัน 53,715-161,145 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน 150,000-270,000 ล้านบาท
“การทุจริตคอร์รัปชันที่ลดลง ทำให้ประเทศมีรายจ่ายรั่วไหลลดลงเฉลี่ยมากกว่า 150,000-180,000 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าหากปีนี้มีการขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนของประเทศจะทำให้ได้ประโยชน์ถึงมือประชาชนทุกบาททุกสตางค์ โดยการลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1% จะทำให้มูลค่าการคอร์รัปชันลดลง 10,000 ล้านบาท”
ส่วนรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย ส่วนใหญ่เป็นการให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัลต่างๆ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก และ การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในภายหลัง เมื่อถามถึงเห็นด้วยหรือไม่ “การที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้” ส่วนใหญ่ 87% ไม่เห็นด้วย ส่วนประสิทธิภาพการต่อต้านทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนใหญ่ 51% ตอบว่ามีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงสุดขึ้นตั้งแต่ทำการสำรวจ ขณะที่กลยุทธ์สำหรับการแก้ไขการทุจริต ส่วนใหญ่เห็นว่าควรสร้างกระบวนการวิธีการจัดจ้างให้มีความโปร่งใส
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐมีการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาในอัตรา 1-15% หรือมีค่าเฉลี่ย 10% คิดเป็นวงเงินที่ต้องจ่าย 100,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วง 2 ปีก่อนที่นักธุรกิจมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ 30% หรือคิดเป็น 282,558 ล้านบาท เพราะไม่มีช่องทางในการจ่ายหรือช่องทางการรับเงิน และนักธุรกิจไม่กล้าจ่ายเพราะกลัวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จริงจังปราบปรามคอร์รัปชัน
“ในปีนี้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเฉลี่ย 10% ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน 100,000 ล้านบาท ลดลงจาก 2 ปีก่อนที่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ 30% คิดเป็นเงิน 282,558 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความเข้มงวดด้านการปราบปราม ทำให้ภาครัฐประหยัดเงินไม่ให้รั่วไหลจากในอดีตได้กว่า 180,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก 1% แต่จะมีผลในปีหน้าที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4% หากภาครัฐเดินหน้าโครงการต่างๆ ตามแผนงานที่กำหนดไว้”.
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.