รถไฟไทย-จีน โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ได้อ่านบทความ "ไทยกำลังตกเป็นเหยื่อจีน" ของคุณ ลมเปลี่ยนทิศ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2558 แล้วก็เกิดความรู้สึกร่วมกับคุณลมเปลี่ยนทิศขึ้นมาทันทีว่า เรากำลังจะยกผลประโยชน์ของชาติประมาณ 400,000 ล้านบาทให้กับจีน โดยจะให้ จีนก่อสร้างทางรถไฟคู่ขนานมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทาง 867 กิโลเมตร ตกกิโลเมตรละประมาณ 46 ล้านบาท
- เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด
- เส้นทางมาบตาพุด-แก่งคอย
- เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย
ขอบคุณรูปภาพ จาก : มติชนรายวัน 13 สิงหาคม 2558
การร่วมทุน การกู้เงิน อยู่ระหว่างการเจรจา อัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับรัฐบาล 2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอัตราดอกเบี้ยลักษณะเชิงพาณิชย์ 4 เปอร์เซ็นต์ อ่านดูแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าประเด็นที่กำลังเจรจากันคืออะไร
โครงการรถไฟไทย-จีน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ต้องถือว่าเป็นโครงการใหญ่สำหรับประเทศไทย แม้ว่าอาจจะไม่ใช่โครงการใหญ่ของจีนก็ตาม มีประเด็นหลายประเด็นที่ต้องการคำตอบ
รัฐบาลกำลังเดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ขนาด 1 เมตรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โครงการดำเนินการอยู่แล้วกว่า 10 ปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน เข้าใจว่าคงจะมีธุรกิจไม่เพียงพอโครงการจึงเดินได้ช้า ความต้องการน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าความต้องการใช้มีมาก กลไกตลาดก็จะผลักดันให้โครงการรถไฟรางคู่เดิมคงจะเดินหน้าได้เร็วกว่านี้ เพราะเสียงเรียกร้องที่จะมีมากขึ้น การไม่มีเสียงเรียกร้องแสดงว่าความจำเป็นยังไม่มี
ถ้าโครงการจบแค่การก่อสร้างทางรถไฟขนาดมาตรฐาน กรุงเทพฯ-มาบตาพุด-หนองคาย ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคงไม่มีธุรกิจพอจะรองรับ ทางรถไฟเดิมขนาด 1 เมตรที่จะพัฒนาให้เป็นรางคู่ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะบัดนี้ก็มีรางข้ามสะพานไปถึงเวียงจันทน์ แต่มีการใช้น้อยมาก ตั้งแต่มีสะพานมิตรภาพการขนส่งทางรถยนต์สะดวกมากกว่า รถไฟที่ข้ามสะพานมิตรภาพมีการใช้น้อยมาก
ถ้าหากเป็นรถไฟรางคู่ขนาดมาตรฐาน เพื่อรองรับรถไฟจีนที่จะขนสินค้ามาลงท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด หรือมากรุงเทพฯก็ต้องมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงผ่านเวียงจันทน์ขึ้นหลวงน้ำทาไปจีน ไทยเราเคยคุยกับลาวหรือยังว่าลาวจะมีโครงการลาว-จีนหรือไม่ ถ้ามีแล้วเงื่อนไขระหว่างจีนกับลาวเป็นอย่างไร ลาวจะยอมให้จีนมาลงทุน โดยลาวเป็นผู้ชำระหนี้หรือไม่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เจ้าหนี้อื่นๆ ของลาวจะว่าอย่างไร
ถ้าโครงการในลาวไม่ประสบความสำเร็จแต่ไทยตัดสินใจไปแล้ว ถ้ารายได้จากการใช้ทางไม่คุ้มกับดอกเบี้ยและเงินต้นรวมค่าบำรุงรักษา จะผูกจะพันกันไปแค่ไหน รัฐสภาไทยจะให้ทั้งงบประมาณใช้หนี้ให้การรถไฟ ชำระหนี้ให้รัฐบาลจีนหรือไม่ เพราะเป็นเงินจำนวนมาก ทุกวันนี้การขาดทุนของการรถไฟก็เป็นปัญหาหนักอยู่แล้ว
เคยคุยกับผู้ใหญ่ทางลาว คำตอบก็ยังไม่ชัดเจนว่าลาวจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าจะก่อสร้างลาวก็จะเป็นผู้ลงทุนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือการเจรจาไม่ควรเป็นการเจรจาระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น ควรจะเป็นไทย ลาวกับจีน เพราะผู้ใช้จะเป็นจีนเสียส่วนใหญ่ ผ่านลาวกับไทย เงื่อนไขกับไทยและกับลาวควรจะเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เงื่อนไขของไทยแย่กว่าเงื่อนไขของลาว
ความจริงแล้ว ถ้าจีนอยากได้โครงการนี้จริงๆ จีนก็ควรเป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมดให้เสร็จ แล้วก็ยกให้ประเทศไทย
รถไฟรางคู่ขนาดมาตรฐานเป็นคนละเรื่องกับรถไฟความเร็วสูงที่ต้องการขนคนเป็นหลัก ที่คิดว่าสถานีต่างๆ จะก่อให้เกิดชุมชนใหม่ๆ เกิดการสร้างเมืองใหม่แบบเดียวกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นรถขนสินค้าก็ไม่หวังว่าจะสร้างเมืองใหม่รอบๆ สถานี
ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว การก่อสร้างทางรถไฟเพื่อขนสินค้าจีนมาลงเรือที่มาบตาพุด ไม่น่าจะเป็นการย่นระยะทางสำหรับจีนที่มีท่าเรือมากมาย ตามชายทะเลของจีน ตั้งแต่มณฑลกวางสี มณฑลกวางตุ้งและมณฑลฮกเกี้ยน แต่ถ้าจะมีทางรถไฟวิ่งไปใช้ท่าเรือย่างกุ้งหรือท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ เพื่อขนสินค้าไปตะวันออกกลาง ไปแอฟริกาและยุโรปยังน่าจะมีเหตุผลกว่า การที่จีนต้องการสร้างทางรถไฟจากจีนผ่านลาวมาออกที่ไทย ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือกรุงเทพฯหรือท่าเรือมาบตาพุด ไม่น่าจะมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ น่าจะมีเหตุผลทางการเมืองมากกว่า ถ้าอยากจะเชื่อมต่อไปมาเลเซียและสิงคโปร์ก็ยิ่งไม่น่าจะมีเหตุผล
ถ้าเราเองอยากจะมีรถไฟความเร็วสูง เพื่อขนคนผู้โดยสารเป็นหลักและขนสินค้าราคาแพงเพื่อส่งออก เราก็ควรจะลงทุนด้วยเงินกู้ภายในประเทศเอง โดยการออกพันธบัตรเป็นเงินบาท ดอกเบี้ยตอนนี้ก็ต่ำ เงินออมภายในประเทศก็มีมากเพราะไม่ได้ใช้เท่าที่ควรมากว่า 17-18 ปีแล้ว ก็ควรจะเปิดประมูลระหว่างประเทศ โดยการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนรัฐ-เอกชน แทนที่จะไปให้อภิสิทธิ์กับประเทศใดประเทศหนึ่งเสียตั้งแต่แรกโดยไม่มีการเปิดประมูล
แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องการตอบแทนกันทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะเหตุที่ไม่พอใจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ก็ยิ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง แต่ใช้เหตุผลและผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือนที่ทหารแต่งตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มาแล้วก็ไป ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่ยังอยู่ต่อไป มูลค่าโครงการหรือต้นทุนขนาด 400,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าบำรุงรักษาตลอดไปในอนาคตเป็นเรื่องใหญ่ การจะเอาไปมอบให้ประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยเหตุผลการเมืองระยะสั้นของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
สําหรับประเทศจีน แม้จะเป็นประเทศใหญ่มีเงินมากมาย ยิ่งไม่ควรฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบประเทศเล็กๆ ในยามที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง ควรจะคำนึงถึงจิตใจของประชาชนคนไทยด้วยว่าในอนาคตคนไทยจะรู้สึกอย่างไร ถ้าโครงการขนาดใหญ่เช่นว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะสร้างภาระให้กับประชาชนคนไทยอย่างไม่คุ้มค่า โดยการฉวยโอกาสอย่างที่กำลังจะทำอยู่ จากประสบการณ์ที่รับรู้กันมาว่าของจีนนั้นอาจจะราคาถูก แต่เสียง่าย คุณภาพไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน เมื่อเกิดเสียหายแล้วการซ่อมบำรุง อะไหล่ การบริการหลังการขายไม่ดีพอ ในระยะยาวก็กลายเป็นของที่แพงกว่าของประเทศอื่น เกิดความสูญเสียทางโอกาสตามมาอีกมากมาย การจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ใช้เงินภาษีของราษฎรไม่ควรเอาไปแลกกับผลประโยชน์ในทางการเมือง ยิ่งเป็นการเมืองระหว่างประเทศยิ่งไม่ควรทำ ควรจะมองแต่เรื่องผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูทั้งเรื่องคุณภาพ เรื่องความเชื่อถือในวันข้างหน้า ไม่ใช่ดูราคาอย่างเดียว
ถ้าการเจรจาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงจัง เป็นการสร้างภาพเพื่อแสดงความไม่พอใจตะวันตกว่า เรายังมีเพื่อนมหาอำนาจอื่นที่สนับสนุน ก็ยิ่งเป็นการคิดผิด เพราะผลประโยชน์ของเราที่ผูกพันอยู่กับตะวันตกกับญี่ปุ่นกับอาเซียนมีมากมายมหาศาล ถ้าจะละเลยเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็เสียหายทั้งนั้น การปกครองแบบเผด็จการทหารที่ไม่ต้องฟังเสียงใคร ไม่ว่าในหรือต่างประเทศนั้น อาจจะเป็นอันตรายกว่าที่เราคิดก็ได้ เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องจีรัง เป็นไปตามสภาพกาล เปลี่ยนไปมาได้เสมอ ไม่ควรเอาใจประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
หวังว่าคงทำกันเล่นๆ แค่ยั่วอเมริกากับยุโรปเท่านั้น คงไม่คิดทำโครงการกับจีนจริงๆ เพราะตรรกะก็ไม่ใช่ วิธีการก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากจะใช้มาตรา 44
ขอให้นอนหลับและฝันดี
ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพ จาก : มติชนรายวัน 13 สิงหาคม 2558 ขอบคุณรูปภาพ จาก : www.mekongchula.com