เจอแบงก์เขี้ยว! ลอง "สูตร 5+1 " กู้ซื้อบ้านให้ผ่าน!
เศรษฐกิจไม่ดีทีไร กู้เงินซื้อบ้านช่างยากเย็นเสียนี่กระไร แต่ในวิกฤตก็มักจะมีโอกาสเสมอ เมื่อเร็วๆ นี้ มีปรากฏการณ์สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เชิญผู้บริหารสถาบันการเงินรายใหญ่ 3 แบงก์ มี ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กสิกรไทย ธ.กรุงเทพ รับบทติวเตอร์สอนเทคนิค "กู้ซื้อบ้านยังไงให้ผ่าน" กิจกรรมแบบนี้ ถ้าเศรษฐกิจไม่เดี้ยงแทบไม่มีโอกาสได้เห็นกันง่ายๆ
ตัวการ คือ ยอดปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท สูงถึง 40-45% ส่วนสินเชื่อกลุ่มบ้านราคาสูงเกิน 1.5 ล้านบาทขึ้นไปอยู่ที่ 20-25% เรื่องของเรื่องเป็น เพราะมีสารพัดปัจจัยลบ ตัวแรกเลย คือ หนี้สินรถคันแรกที่ยังตามหลอกหลอนจนถึงสิ้นปี 2559 ตัวต่อมา คือ หนี้ครัวเรือน สถิติทั้งประเทศสูงปรี๊ดถึง 81.50%
สาเหตุที่ปัจจัยลบ 2 ตัวนี้สำคัญเพราะเวลาพิจารณาปล่อยสินเชื่อบ้าน นายแบงก์ทั้งหลายมีหลักเกณฑ์ตายตัวข้อหนึ่ง คือ รายได้ผู้กู้ 100% คำนวณแล้วหนี้ทุกตัวที่มี (รวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน) จะต้องเป็นภาระจ่ายหนี้ไม่เกิน 50-80% ของรายได้
อย่าถามนะคะว่า NPL ย่อมาจากอะไร เพราะคนไทยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายรอบตั้งแต่ปี 2540 ที่เรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงปัจจุบัน คำว่า NPL (Non Performing Loan) แปลตรงตัว คือ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้ที่ไม่ยอมจ่าย ก็เลยกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งโอกาสเกิดก็ง่ายเสียด้วย ถ้าเบี้ยวจ่ายค่างวด 3 เดือน ทางแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) บอกว่าเป็นหนี้เสียทันที
สูตรเด็ดเคล็ดลับกู้เงินซื้อบ้านทำยังไงให้แบงก์อนุมัติ ขมวดปมได้ว่า "5+1" โดยเลข 5 มาจากเทคนิค 5 ข้อในการยื่นขอสินเชื่อ กับเลข 1 สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือ "ผู้ประกอบอาชีพอิสระ" ไม่มีคำนิยามตายตัว แต่ให้นึกง่ายๆ ก็พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดเปิดท้ายขายของ หรือคนที่ทำอาชีพอิสระ แต่ไม่ใช่พนักงานบริษัท รายได้อาจจะมากกว่ามนุษย์เงินเดือนด้วยซ้ำ แต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีหลักฐานการมีรายได้ประจำ
เริ่มกันเลยนะคะ สูตรข้อที่ 1คนที่ยังไม่เคยกู้ให้ทดลองฝึกสร้าง "วินัยการผ่อน" วิธีการให้จำลองสถานการณ์ สมมุติมีงวดผ่อนเดือนละ 7,000 บาท ให้ทดลองกันเงินจำนวนนี้ไว้ทุกเดือน ห้ามแตะต้องเด็ดขาด ถ้าสามารถทำได้สม่ำเสมอก็แสดงว่าวินัยดีมาก สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้มีสูงมากเช่นกัน
เทคนิคนี้น่าสนใจ เพราะต้องเห็นใจแบงก์ด้วยเหมือนกัน อย่าลืมว่าสินเชื่อซื้อบ้านผ่อนยาว 25-30 ปี วินัยการผ่อนจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งยวด
สูตรข้อที่ 2"เดินบัญชี" สิ่งที่สถาบันการเงินต้องการ คือ หลักฐานการมีรายได้สม่ำเสมอ ฉะนั้น ถ้าไม่มีสลิปเงินเดือนมาโชว์ ก็ต้องใช้วิธีการเดินบัญชี วิธีการ คือ นำเงินฝากเข้าบัญชีแบงก์ใดแบงก์หนึ่ง อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6-12 เดือน โดยสิ่งพึงระวังสำหรับการเดินบัญชีคือจะต้องมีความสม่ำเสมอ
สูตรข้อที่ 3"ยอดเงินคงเหลือติดบัญชี" ข้อนี้แม้แต่มนุษย์เงินเดือนก็ต้องพึงระวัง เพราะนายแบงก์จะดูว่ามีเงินเหลือติดบัญชีเท่าไหร่ จำนวนควรจะต้องสอดคล้องกับภาระหนี้ที่ขอกู้ คำแนะนำ คือ เวลายื่นกู้ ถ้าหากพบว่ามีเงินเหลือติดในบัญชีต่ำ แต่ตัวเองไม่ได้มีหนี้สินอะไร ควรแจกแจงรายละเอียดกับแบงก์ว่ารายได้ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีอาจเป็นเพราะนำไปลงทุนอื่นๆ เช่น ซื้อทองคำ หุ้น ซื้อกองทุนรวม เป็นต้น
คนขี้สงสัยอาจจะถามว่า จำนวนเงินติดบัญชีเท่าไหร่ดีล่ะ คำตอบกว้างๆ ให้ยึดหลักเหมือนเงินดาวน์ เช่น ซื้อคอนโดมิเนียมราคา 2 ล้าน เงินดาวน์ 10% เท่ากับ 2 แสนบาท เท่ากับต้องขอกู้ 90% หรือ 1.8 ล้านบาท ดังนั้น วงเงินติดบัญชีควรมี 2 แสนขึ้นไป หรือมี 10-15% ของราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ
สูตรข้อที่ 4"เครดิตทางการเงิน" ประวัติการใช้สินเชื่อทุกชนิดจะถูกส่งมาไว้ถังกลางที่เครดิตบูโร เวลาเรายื่นขอกู้แบงก์จะตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปีเต็ม คำนวณแล้วหนี้เดิมที่มีอยู่ ถ้าจะเพิ่มหนี้บ้านเข้าไปอีกภาระการผ่อนเกิน 80% ของรายได้หรือเปล่า ถ้าเกินก็หมดสิทธิ โดยตรวจสอบควบคู่กับประวัติการผิดนัดชำระหนี้ ข้อแนะนำคือไม่ควรจ่ายช้าเกิน 30 วัน (อย่าให้ทบงวดนั่นเอง) กรณีที่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ให้ชี้แจงสาเหตุผิดนัด ที่สำคัญต้องแนบหลักฐานว่าได้ตามไปจ่ายเรียบร้อยแล้ว
สูตรข้อที่ 5"หลักทรัพย์ค้ำประกัน" ตัวนี้แบงก์ก็ให้ความสำคัญ เพราะเขาจะมองเผื่อว่ากรณีเป็นหนี้เสียแล้วยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด จะต้องซื้อง่ายขายคล่องพอสมควร ข้อแนะนำคือพึงระวัง 2 ข้อ ถ้าใช้ที่ดินค้ำประกันจะต้องไม่เป็นที่ตาบอด กับทำเลที่ตั้งไม่ควรอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม
สุดท้ายอีก 1 เทคนิคสำหรับ "ผู้ประกอบอาชีพอิสระ"กลุ่มนี้โดนหางเลขไปด้วย เพราะทำมาค้าขายรับเงินสดเน้นๆ ทุกวันแต่ไม่มีหลักฐานรายได้ประจำ ปัญหาอยู่ที่เงินสดคล่องมือทำให้รสนิยมสูง มักเลือกซื้ออสังหาฯ ราคาแพง ล่าสุด ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงเกือบเท่าตัว จาก 19% เพิ่มเป็น 34% นายแบงก์ก็เลยออกอาการ แหยงๆ ที่จะปล่อยกู้ ข้อแนะนำ คือ สามารถใช้ "หนังสือชำระภาษีประจำปี" เป็นหลักฐานแสดงรายได้แทน บางแห่งรับฟังข้อมูลยอดขาย ต้นทุน กำไรต่อวันก็มี
อ่านจบแล้วขอให้กู้ซื้อบ้านผ่านทุกราย โอมเพี้ยง!
ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพ จาก : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน ๆ โดย มติชนรายวัน : เมตตา ทับทิม misstubtim@yahoo.com