กพช.ไฟเขียวปรับฐานคิดค่าไฟฟ้าใหม่ เริ่มใช้ ม.ค. 59 ยันไม่มีผลค่าไฟฐานเพิ่ม พร้อมปรับเกณฑ์ตัดสิทธิ์คนใช้ไฟฟ้าฟรี 2 กลุ่ม 1 ล้านกว่าครัวเรือน เชื่อช่วยประหยัดงบอุดหนุนค่าไฟ 1,500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า

ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่เพื่อประกาศภายในปี 2558 – 2560 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอ เพื่อกำกับดูแลราคาให้มีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภค

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. กล่าวว่า ในการคำนวณโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ที่ประชุมยังเห็นชอบ ปรับแก้หลักเกณฑ์ลดจำนวนผู้มีสิทธิ์จะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน โดยจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ใช้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 2 กลุ่มที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ได้แก่
  1. กลุ่มนิติบุคคลบ้านจัดสรรที่มาขอใช้สิทธิ์ทั้งที่โครงการยังไม่เกิดขึ้นหรือยังไม่ได้มีการขายประมาณ 2 แสนราย โดยใช้เงินในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าอยู่ปีละ 110 ล้านบาท
  2. กลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่ต่อเนื่อง ซึ่งบางเดือนอาจใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย หรือบางเดือนไม่เกิน 50 หน่วย แต่ไม่ถึง 3 เดือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังที่ 2 มีจำนวน 9.4 แสนราย และใช้เงินในการอุดหนุนปีละ 1,400 ล้านบาท
  3. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีปีละ 3,500-3,600 ล้านบาท ซึ่งหากลดจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีครั้งนี้ จะลดภาระค่าใช้จ่ายได้ปีละ 1,500 ล้านบาท และจะสะท้อนไปยังต้นทุนอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดลงได้ โดยแนวทางดังกล่าวจะเริ่มใช้ในบิลค่าไฟฟ้าเดือนมกราคม 2559

    "การคำนวณโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฐานเพิ่มขึ้น เพราะได้คำนวณการลงทุนของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงงาน ภายในระยะเวลา 3 ปี และมีแนวโน้มลงทุนไม่สูงขึ้น แต่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) นั้นจะต้องพิจารณาทุกๆ 3 เดือน เนื่องจากต้องดูปัจจัยราคาค่าก๊าซหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่อาจจะผันแปรด้วย” นายวีระพลกล่าว

    นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าสำหรับด้านการขับเคลื่อนแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก กพช. ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยให้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ในปริมาณกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 50 เมกะวัตต์ ด้วยวิธีแข่งขันด้านราคา (FiT Bidding) แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ได้แก่ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย กะลาปาล์ม หญ้า หรือเศษวัสดุจากการเกษตรอื่นๆ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 30–40 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ หรือก๊าซที่เกิดขึ้นจากการหมักย่อยสลายของน้ำเสีย ของเสียต่างๆ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 10-20 เมกะวัตต์

    ในส่วนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ กพช. ได้เห็นชอบในหลักการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบผสมกับน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 23 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มชั่วโมงการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่ และให้พิจารณานำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนน้ำมันเตาภาย หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรสวนปาล์มที่มีล้นตลาดอยู่200,000 ตัน โดยให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มปริมาณไม่เกิน 15,000 ตันต่อปี

    ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ และมอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าเป็นสำคัญ

    นอกจากนี้ที่ประชุมกพช.ยังมีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวในปริมาณรายละ 1 ล้านตันต่อปี (รวม 2 ล้านตันต่อปี) และการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในลักษณะสัญญาระยะยาวนี้ จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและมีราคาที่ไม่ผันผวน โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาซื้อขาย LNG ภายหลังจากร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว

    ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์ ขอบคุณรูปภาพ จาก : แฟ้มภาพเครื่องบินแบบแอร์บัส A380 ของสายการบินเอมิเรตส์ AFP PHOTO / ANP / LEX VAN LIESHOUT