จีนกำลังพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ลง โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ข่าวเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นข่าวที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต้องติดตาม เพราะเศรษฐกิจจีนก็ดี ปริมาณการส่งออกก็ดี ปริมาณการนำเข้าของจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 25 ของผลผลิตและปริมาณการค้าของโลก การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเงินของจีน ย่อมจะกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราสูงด้วยเลข 2 หลักมาเป็นเวลานาน จึงเป็นไปตามกฎเศรษฐศาสตร์ เมื่อระดับของการพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง ค่าจ้างแรงงานถีบตัวสูงขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยการลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับวิทยาการผลิต หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกยังคงได้เปรียบอยู่ด้วยการตรึงค่าเงินให้อ่อนกว่าความเป็นจริง
แม้ว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจะขยับสูงขึ้นพร้อมๆ กับการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศ อันเกิดจากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาเป็นเวลานาน แม้ว่าจีนจะถูกต่อว่าอยู่ตลอดเวลาว่าเอาเปรียบชาวโลกในเรื่องที่จีนไม่ยอมเปิดเสรีทางการเงิน แม้ว่าจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก บัดนี้ จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศคิดเป็นเงินอยู่ถึง 3.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
ความจริงแล้วการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนนั้นมากเกินความพอดีด้วยซ้ำ เพราะถ้าปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัว ค่าเงินหยวนจะมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ แทนที่ค่าเงินหยวนจะอ่อนลงเหมือนประเทศที่ต้องปล่อยค่าเงินลอยตัวเพราะปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เหมือนกรณีของประเทศไทยในปี 2540
ขอบคุณข้อมูล จาก มติชนออนไลน์
ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราเลข 2 หลัก ตลาดทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นของจีนก็มีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูง เพราะเงินที่ไหลเข้าส่วนมากก็จะไหลเข้าที่ตลาดหุ้น ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั้งของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นก็มีอยู่อย่างจำกัดและอยู่ในการควบคุม เพื่อให้สามารถคงอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของโลกได้ การดำเนินนโยบายการเงินจึงเป็นการดำเนินนโยบายเอาประโยชน์จากการฝืนกลไกตลาด แต่จีนสามารถทำได้เพราะขนาดของเศรษฐกิจการเงินของจีนที่ใหญ่พอ ขณะเดียวกันก็ไม่ผิดกฎของไอเอ็มเอฟ เพราะจีนไม่ได้เอาประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายเงินทุน เงินทุนสำรองทั้งหมดมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ใช่จากการเปิดเสรีภาคการเงินเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
เมื่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปอ่อนตัวลง อัตราการขยายตัวการส่งออกของจีนก็อ่อนตัวลงไปด้วยเป็นของธรรมดา เพราะอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของจีน จีนพยายามชดเชยการอ่อนตัวของตลาดส่งออก โดยการส่งเสริมให้ครัวเรือนของจีนใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้มีการนำเข้าและการใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น แทนที่จะเรียกร้องให้ผู้คนประหยัดอย่างที่เคยทำมาในอดีต
เศรษฐกิจของจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจขาลง เริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยร้อนแรงสุดขีด ทางการจีนก็เริ่มขจัดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยการจำกัดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จำกัดการซื้อขายที่อยู่อาศัยด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งก็ได้ผล ทำให้ความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มลดลง
การอ่อนตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ การอ่อนตัวลงของความต้องการสินค้าและบริการของจีนในตลาดโลกได้มีผลต่อเนื่องมาที่ตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหลักทรัพย์ทั้งที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ดัชนีราคาหุ้นที่เซี่ยงไฮ้ที่เคยขึ้นไปถึง 5,200 จุด ก็ลดลงอย่างรวดเร็วมาที่ 3,500 จุด หรือประมาณ 30-35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย
ทางการจีนจึงดำเนินนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อพยุงตลาดหุ้นไม่ให้พังทลายด้วยมาตรการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงหลายอย่าง ซึ่งเป็นมาตรการที่ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้คาดการณ์มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนต่างชาติที่เอาเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของจีน มาตรการดังกล่าว คือ ห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนที่ถือหุ้นเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ขายหุ้นของบริษัทที่ตนถือ ห้ามผู้บริหารบริษัทขายหุ้นที่ตนถือ เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากต่อสินเชื่อในการซื้อหุ้น หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า "margin" ตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้นบริษัทชั้นดีหากราคาหุ้นของบริษัทนั้นลดลงถึงระดับหนึ่ง
ที่สำคัญก็คือ จีนประกาศลดค่าเงินหยวน 2 วันติดต่อกันเมื่อวันที่ 11 และวันที่ 12 สิงหาคมลง 1.9 และ 1.6 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นการลดค่าเงินหยวน 3.5 เปอร์เซ็นต์ สร้างความงุนงงและความวิตกกันทั่วไปทั้งโลกว่าเหตุผลที่แท้จริงของการลดค่าเงินหยวนคืออะไร
ที่เข้าใจกันก็คือ อาจจะเป็นไปได้ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่เคยตั้งเป้าหมายว่าปี 2558 นี้จีนจะพยายามรักษาอัตราการขยายตัวไว้ให้ได้ที่ร้อยละ 7 ต่อมาก็ลดเป้าหมายลงมาเป็นร้อยละ 6.7 และก็คงเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวร้อยละ 6.7 ก็อาจจะไม่ถึง และกำลังจะลุกลามมาที่ตลาดหุ้น จีนจึงรีบดำเนินการแทรกแซงตลาดอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด ทั้งที่เป็นชาวจีนเองและชาวต่างประเทศ
สิ่งที่น่าห่วงนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องค่าเงินหยวน ที่ลดลง 3.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ เหตุผลที่แท้จริงที่จีนลดค่าเงินหยวนของตน เพราะไม่น่าจะเป็นเหตุผลทางการเงิน เช่น การขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินหยวนก็ยังมั่นคงแข็งแรง ไม่ได้แข็งเกินความเป็นจริง แท้จริงแล้วค่าเงินหยวนอ่อนกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำไป
อาจจะเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจของจีนอ่อนตัวลงมากกว่าที่คาดหรืออ่อนตัวลงมากกว่าที่เคยประกาศไว้ ผลประกอบการของภาคธุรกิจต่ำกว่าเป้าหมายเป็นอันมาก ซึ่งน่าจะมีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ และถ้าตลาดหลักทรัพย์เป็นอะไรไปก็อาจจะเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของจีน ทางการจีนจึงออกมาดำเนินการเสียก่อนที่อะไรจะเกิดขึ้น
ถ้าเป็นเพราะ ภาวะเศรษฐกิจของจีนเลวกว่าที่คาดหรือที่ประกาศไว้ ผลต่อประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนก็ย่อมจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นระลอกที่จะตามมาในอนาคต
ทางที่ดีควรเตรียมใจไว้ก็ดี
Source : มติชนรายวัน 20 สิงหาคม 2558 ขอบคุณข้อมูล จาก : มติชนออนไลน์