ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ASTVผู้จัดการรายวัน - “ซีคอนสแควร์” ทุ่มทุน 1 พันล้านบาท ปรับใหญ่รับศึกหนักค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ ตะวันออกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ส่วนโครงการ “มิกซ์ยูส” 1 หมื่นล้านบาท ยังชะลอก่อน รอความชัดเจนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง นาย “ตะติยะ ซอโสตถิกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโคงการ “ซีคอน สแควร์” ถนนศรีนครินทร์ และ “ซีคอน บางแค” เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนรีโนเวตศูนย์การค้า “ซีคอน สแควร์” ครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับการแข่งขันค้าปลีกในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ย่านถ.บางนา-ตราด และถ.ศรีนครินทร์ ที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับแนวโน้มสถานการณ์ค้าปลีกชานเมืองจะแข่งขันสูงมากขึ้นไม่แพ้ในใจกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งศูนย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางเกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคย่านถนนศรีนครินทร์ก็มีการเปลี่ยนไปมากและต้องการความทันสมัยมากขึ้น การปรับใหญ่ครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับลูกค้าและสร้างความแตกต่างบนพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 หมื่นตารางเมตร และเป็นการขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายระดับบีบวกให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าหลังจากปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์จะเพิ่มปริมาณลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ 20% ส่วนโครงการ “มิกซ์ยูส ซีคอน ซิตี้” ที่ถนนศรีนครินทร์เดิมนั้นยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะต้องรอความชัดเจนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพราว-สำโรงก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเดิมมีแผนลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับผลประกอบการปี 2558 คาดว่า “ซีคอน สแควร์” จะมีรายได้ 1,528 ล้านบาท เติบโต 7% ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าศูนย์ฯ 7 หมื่นคนในวันธรรมดา และ 1.3 แสนคนในวันเสาร์-อาทิตย์ ด้าน “ซีคอน บางแค” คาดมีรายได้ 569 ล้านบาท เติบโต 8% ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าศูนย์ฯ 4.5 หมื่นคนในวันธรรมดาและ 7 หมื่นคนในวันเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่โรงแรมเรอเนซองส์ ภูเก็ต คาดว่าปีนี้มีรายได้ 385 ล้านบาท เติบโต 10% ส่วนที่ดินอีก 50 ไร่ที่จังหวัดกระบี่ มีแผนที่จะพัฒนาเป็นโรงแรมเช่นกัน โดยว่าจ้างเชนต่างประเทศมาบริหาร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา นายตะติยะ กล่าวต่อว่า แผนปรับปรุงศูนย์การค้า “ซีคอน สแควร์” ครั้งนี้จะดำเนินการในช่วงปีนี้และถึงปีหน้าคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปลายปีหน้า มี 6 ส่วนหลักคือ 1.เพิ่มความสว่างลานจอดรถเดิม งบ 10 ล้านบาท 2.พัฒนาพื้นที่ เดอะคาโนปี้/The Canopy งบ 100 ล้านบาท บนชั้น 4 เป็นโซนอาหารกว่า 10 ร้าน พื้นที่ 5 พันตารางเมตร จับลูกค้ากลุ่มบีบวก 3.พัฒนา S-mood พื้นที่ 5 พันตารางเมตร ด้านหลังอาคารเป็นแห่งแฮงเอาท์ มี 8 ร้านค้าใหม่ 4.พัฒนาพื้นที่แคมปัส งบ 30 ล้านบาท ปรับบรรยากาศและเพิ่มพื้นที่อีก 2 พันตารางเมตร รองรับสถาบันการศึกษาใหม่อีก 10 สถาบัน รวมกับของเดิมเป็น 32 สถาบันการศึกษา พื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร 5.สร้างอาคารจอดรถใหม่ งบ 700 ล้านบาท เป็นตึกสูง 9 ชั้น พื้นที่ 5.2 หมื่นตารางเมตร จอดรถได้เพิ่ม 1.4 พันคัน ส่วนของเดิมจอดได้ 5 พันคัน และ 6.ปรับพื้นที่ “โยโยแลนด์” งบ 80 ล้านบาท พื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร เพิ่มเครื่องเล่นใหม่ 13 เครื่องเล่น รวมเป็น 23 เครื่องเล่น และเพิ่มห้องการเรียนรู้อีก 3 ห้องรวมเป็น 8 ห้อง


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ค้าปลีกในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออกจากนี้จะยิ่งมีการแข่งขันรุนแรงมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ บนถนนศรีนครินทร์ ทางด้าน “พาราไดซ์ ปาร์ค” เพิ่งจะมีการเปิด “ศูนย์ 555” ได้ไม่นานเป็นศูนย์รวบรวมสถาบันการกวดวิชา รวมทั้งเพิ่งเปิดบริการห้างสรรพสินค้า “โตคิว” ของญี่ปุ่น เพื่อขยายลูกค้าระดับบน และไม่นานนี้ “แม็คโคร” ก็เพิ่งเปิดสาขาใหม่เยื้อง “ซีคอน สแควร์” ไม่ไกลกันเท่าใด ส่วน “เดอะมอลล์” ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ “แบงคอกมอลล์” บริเวณสี่แยกถนนบางนา-ตราด ซึ่งจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ประเภทคอมเพล็กช์มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และอื่นๆ เพื่อรองรับตลาดย่านตะวันออก ขณะที่ “เซ็นทรัล ซิตี้ บางนา” ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงครั้งใหญ่เช่นกัน มีทั้งการเพิ่มพื้นที่เช่าและเพิ่มร้านค้าแบรนด์เนมจำนวนมาก ส่วน “เมกา บางนา” ก็มีการเพิ่มเติมบริการและร้านค้าใหม่ๆตลอดเวลา ขณะเดียวกันยังมีบรรดา “เทสโก้ โลตัส” และ “บิ๊กซี” ที่เปิดบริการย่านนี้หลายแห่ง