จับตาตัวเลข ศก.ไทย-เทศ
ตลาดหุ้นไทยรอบสัปดาห์ก่อน (24-28 ส.ค.) ผันผวนรุนแรง โดยต้นสัปดาห์ (24 ส.ค.) ดัชนีร่วงลงหนัก เพราะแรงกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หลังผลสำรวจของไคซิน (Caixin) บ่งชี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตในเบื้องต้นของจีนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 77 เดือน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงรูด รวมถึงตลาดหุ้นไทย ดัชนีปิด 1,301.06 จุด ลดลง 64.55 จุด หรือ -4.73% มูลค่าการซื้อขาย 60,491.34 ล้านบาท
กลางสัปดาห์ (26 ส.ค.) มีแรงทยอยซื้อหุ้นกลับเข้ามาในหุ้นใหญ่ นักลงทุนคาดหวังว่าจะเห็นรัฐประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้ (31 ส.ค.-4 ก.ย.) แต่ยังสู้แรงเทขายไม่ไหว ดัชนีปิดที่ 1,320.08 จุด ลดลง 3.80 จุด หรือ -0.29% มูลค่าการซื้อขาย 45,888.89 ล้านบาท
ท้ายสัปดาห์ (27 ส.ค.) ดัชนีฟื้นตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมระหว่าง
วันที่ 16-17 ก.ย. มีแรงซื้อไหลกลับอีกระลอก ดัชนีปิดที่ 1,358.03 จุด เพิ่มขึ้น 37.95 จุด มูลค่าการซื้อขาย 52,391.81 ล้านบาทในช่วง 4 วันทำการ (24-27 ส.ค.)
นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 12,175.86 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 161.95 ล้านบาท ต่างประเทศขายสุทธิ 14,275.07 ล้านบาท รายย่อยซื้อสุทธิ 1,937.25 ล้านบาท
แนวโน้มสัปดาห์นี้ (31 ส.ค.-4 ก.ย.) บล. โนมูระ พัฒนสิน ประเมินแนวรับที่ 1,320 จุด แนวต้าน 1,355-1,360 จุด ปัจจัยที่ต้องติดตามคือนโยบายของทีมเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นต่างประเทศ
ส่วนค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ก่อน (24-28 ส.ค.) เคลื่อนไหวอ่อนค่า ต้นสัปดาห์เปิดตลาดที่ 35.76/78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากท้ายสัปดาห์ก่อนหน้า
ท่ามกลางความกังวลต่อตัวเลขภาคการผลิตของจีนที่ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้นักลงทุนเทขายเงินสกุลในภูมิภาคและเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 35.73-35.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ 35.76/78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่กลางสัปดาห์ (26 ส.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.65/57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น 1 ปีลง และยังปรับลดสัดส่วนการสำรองเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ ลงอีก 0.50% ฟากสหรัฐก็โชว์ตัวเลขเศรษฐกิจน่าพอใจ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค.สูงสุดรอบ 7 เดือน รวมถึงยอดซื้อบ้านใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาดการณ์ ทำให้ค่าเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.60-35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ 35.61/63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ท้ายสัปดาห์ (28 ส.ค.) เงินบาทเปิดตลาดที่ 35.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากที่สหรัฐประกาศจีดีพีไตรมาส 2 ออกมายังดีเกินคาด สนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าด้วย และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าวแผนเงินทุนเคลื่อนย้ายเฟสที่ 2 เปิดให้นักลงทุนออกไปลงทุนต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าทันที
ขณะเดียวกัน ทิศทางสัปดาห์นี้ นักบริหารเงินธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจับตาตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเดือน ก.ค. และตัวเลขสำคัญของต่างประเทศ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐในเดือน ส.ค.
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.