เฟดคงดอกเบี้ย … ลดแรงกดดันต่อเงินบาทและบอนด์ยิลด์ไทยในช่วงสั้น
ในการประชุม FOMC วันที่ 16-17 ก.ย. 2558 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 9 : 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบร้อยละ 0.00-0.25 พร้อมๆ กับคงแผนการจัดการกับงบดุลไว้ตามเดิม โดยเฟดจะนำเงินที่ได้จากพันธบัตรที่ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนกลับมาลงทุนต่อ ซึ่งย่อมจะทำให้งบดุลของเฟดทรงตัวอยู่ในระดับสูง (ปัจจุบันอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อนึ่ง มติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้ สอดคล้องกับการปรับตัวของตลาดการเงินในช่วงก่อนการประชุมที่ทยอยลดโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลงมาอย่างต่อเนื่อง
- สรุปประเด็นสำคัญจากมติการประชุมเฟด วันที่ 16-17 ก.ย. 2558 เฟดยังคงมีมติยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบร้อยละ 0.00-0.25 อย่างต่อเนื่องตลอด 55 รอบการประชุมที่ผ่านมา โดยถ้อยแถลงหลังการประชุมของเฟดในรอบนี้ สะท้อนมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีผลกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทั้งนี้ มุมมองที่ระมัดระวังดังกล่าวสะท้อนผ่านตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ/เงินเฟ้อ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในกราฟ Dot Plot ที่เฟดทบทวนใหม่ โดยเฟดปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อ (PCE Inflation) ในปี 2558 ลงมาที่ร้อยละ 0.4 (จากเดิมที่ร้อยละ 0.7) และมองว่า เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ และจะอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2559-2560 สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯ ในปี 2559 -2560 ที่ถูกปรับลงมาที่ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.2 (จากเดิมที่ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.3) ตามลำดับ แม้จะขยับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ขึ้นเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 2.1
- แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในการประชุมรอบที่เหลือของปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ยังมีความเป็นไปที่เฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างน้อย 1 ครั้งในการประชุม FOMC อีก 2 รอบที่เหลือของปี 2558 (รอบวันที่ 27-28 ต.ค. 2558 และรอบวันที่ 15-16 ธ.ค. 2558) เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังน่าจะมีการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง แต่คงต้องยอมรับว่า ประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจ และความผันผวนของของตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งอาจจะยังไม่ลดระดับลงมากนักนับจากนี้จนถึงสิ้นปี จะยังคงเป็นปัจจัยที่ลดทอนโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ดังนั้น ตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของเฟด อาจไม่ใช่สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ เพียงปัจจัยเดียว แต่จะยังครอบคลุมไปถึงบรรยากาศแวดล้อมของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ซึ่งอาจจะยังไม่กลับมาปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
- ผลต่อค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยในระยะที่เหลือของปี 2558 แม้แรงกดดันต่อตลาดการเงินโลกอาจปรับลดลงมาบางส่วน หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.00-0.25 ตามเดิม อย่างไรก็ดี ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยอาจยังคงเผชิญความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า…
- อย่างไรก็ดี ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรตระหนักว่า การปรับฐานของค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนในประเทศดังกล่าว คงจะปรากฏขึ้นเพียงชั่วคราว โดยค่าเงินบาทจะกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะปานกลาง-ยาวที่คงปรับขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง เมื่อก้าวเข้าสู่ระยะที่เหลือของปี 2559 จากทั้งโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่มีอยู่ และความต้องการระดมทุนของภาครัฐในปีงบประมาณ 2559 ที่เพิ่มสูงกว่าปีงบประมาณ 2558 (โดยตามแผนของ สบน. ความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ของภาครัฐในปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 9.37 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากในปีงบประมาณ 2558 เพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณ โครงการลงทุนต่างๆ และรีไฟแนนซ์ตราสารหนี้เดิม เป็นต้น) ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในประเทศดังกล่าว จึงยังควรวางแผนตั้งรับไว้ล่วงหน้า
- ความผันผวนของค่าเงินบาทอาจลดลงระดับลง แต่ในกรอบที่ไม่มากนัก เพราะแม้เฟดจะยังคงส่งสัญญาณไม่ชัดเจนต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะทยอยลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ (รวมถึงประเทศไทย) โดยเปรียบเทียบ ดังนั้น ในขณะนี้ ธนาคารกสิกรไทยจึงยังคงคาดการณ์ระดับเงินบาทในช่วงสิ้นปี 2558 ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ
- อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่าจะย่อตัวลง โดยเฉพาะตราสารที่มีอายุปานกลาง-ยาว โดยนอกจากจะเป็นผลจากกระแสเงินทุนไหลออกของต่างชาติที่คงผ่อนจังหวะลงในระยะสั้นแล้ว ก็ยังมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการอ่อนตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่ตลาดยังคงมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งทิศทางดังกล่าวน่าจะช่วยคลายความกังวลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นของต้นทุนทางการเงินไทยลงไปได้ในระดับหนึ่ง
- ดังนั้น หากเศรษฐกิจไทยยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ล่าช้าไปกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ธปท. จะปรับจุดยืนของนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้นอีก เพื่อประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ความผันผวนในตลาดการเงินโลก ยังไม่ไต่ระดับขึ้นมากจนวกกลับมาส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลเชิงนโยบายการเงินของไทย
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ECONOMIC BRIEF ปีที่ 21 ฉบับที่ 3574 วันที่ 18 กันยายน 2558