จับตาโค้งสุดท้ายปี 2558... คาดจีนเที่ยวไทยช่วงไตรมาส 4 มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคน
- ในช่วงที่เหลือของปี 2558 ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีนที่ชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นปลายทางที่มีความได้เปรียบเรื่องความคุ้มค่าเงินที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายระดับ ประกอบกับแรงหนุนจากการทำการตลาดอย่างเข้มข้นของภาครัฐและภาคเอกชนไทย
- โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 จะมีชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 69.8 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนปี 2557)
- อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางชะลอตัว ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอาจจะหันมาทำตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนระดับบนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายสูงกว่าตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งก็น่าจะช่วยทดแทนเม็ดเงินที่หดหายไปจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน
- ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบันไทยจะมีสัดส่วนตลาดชาวจีนระดับบนไม่ถึงร้อยละ 10 แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของไทยสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตลาดกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางทะเล กิจกรรมช้อปปิ้ง รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดชาวจีนระดับบนที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยในปี 2558 นี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.8 แสนคน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ผู้คนมีกำลังซื้อหลากหลายระดับ ทำให้กลายเป็นตลาดเป้าหมายของหลายประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต่างดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการด้านวีซ่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน อาทิ การยกเว้นวีซ่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า การลดขั้นตอนและความซับซ้อนในการยื่นขอวีซ่า เป็นต้น
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะมีความสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เน้นทำตลาดนักท่องเที่ยวระดับบนที่ชื่นชอบกิจกรรมการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมหรือเน้นดึงตลาดจัดงานแต่งงาน ขณะที่เกาะบาหลีในอินโดนีเซียมุ่งเน้นตลาดระดับบน โดยเน้นจุดขาย คือ ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีการดำเนินมาตรการด้านวีซ่าใดๆ ในปีนี้ แต่ด้วยการทำการตลาดอย่างเข้มข้นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ (อาทิ การไปโรดโชว์ในเมืองเศรษฐกิจหลักและรองของจีนอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น) และภาคเอกชนของไทย รวมถึงภาคเอกชนของจีนในประเทศจีนก็มีการทำการตลาดควบคู่กันไป เพื่อประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการทำตลาดเพื่อดึงชาวจีน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายของลูกค้า และเมื่อประกอบกับการทำการตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจทัวร์ ซึ่งถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
- ธุรกิจไทยเร่งเพิ่มฐานลูกค้า/หันมาบุกตลาดนักท่องเที่ยวจีน ในปี 2558 ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจทัวร์ และธุรกิจสายการบิน ต่างหันมาทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขยายฐานลูกค้าชาวจีนและกลุ่มที่หาตลาดใหม่เพื่อชดเชยบางตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย กลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการไทยมีการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่หลากหลายแตกต่างกันตามศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยบางรายเลือกทำตลาดร่วมกับพันธมิตรชาวไทย เช่น ธุรกิจโรงแรมนำเสนอราคาห้องพักให้ธุรกิจทัวร์ไทย ทั้งผู้เล่นรายใหญ่/รายเล็กที่ทำตลาดลูกค้าชาวจีน รวมถึงตัวแทนบริษัททัวร์จีนในประเทศไทย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยบางรายเลือกทำตลาดโดยตรง เช่น ธุรกิจโรงแรมเลือกที่จะติดต่อและเจรจาธุรกิจโดยตรงกับธุรกิจทัวร์จีนในประเทศจีน รวมถึงการทำตลาดโดยตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (ชาวจีนกลุ่มเป้าหมาย/ลูกค้าองค์กร) โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลัก โดยข้อดีของการทำตลาดโดยตรงก็น่าจะเป็นเรื่องการเน้นขายคุณภาพของการบริการ ซึ่งไม่ต้องตัดราคาขายอย่างที่เห็นได้ชัดในกลุ่มผู้ประกอบการที่เน้นทำการตลาดผ่านบริษัททัวร์
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- ผู้ประกอบการชาวจีนหันมารุกตลาดจีนเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ตลาดจีนเที่ยวไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นลูกค้าที่มาจากเมืองเศรษฐกิจหลักและรองของจีน ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของจีน โดยเฉพาะธุรกิจทัวร์ที่เป็นกลไกสำคัญในการดึงตลาดชาวจีนมาเที่ยวไทย ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนชาวจีนทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย (โดยพิจารณาจากสถิติทางการจีนรายงานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยผ่านบริษัททัวร์จำนวน 1,611,576 คน เทียบกับสถิติในช่วงเดียวกันของกรมการท่องเที่ยวของไทยที่ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมายังประเทศไทยจำนวน 2,004,447 คน) โดยผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์จีนหันมาบุกทำตลาดจีนเที่ยวไทยด้วยตนเองมากขึ้น อาจจะมีตัวแทนบริษัททัวร์จีนในไทยเพื่อติดต่อและเจรจาต่อรองกับธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องของไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการด้านการขนส่ง ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจจำหน่ายของฝากของที่ระลึก เป็นต้น (เดิมร่วมมือกับธุรกิจทัวร์ไทยในการทำการตลาด) นอกจากนี้ นักธุรกิจจีนอีกส่วนก็เข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจทัวร์จีนยังเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองเหนือผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นผู้ที่ตัดสินใจเลือกโรงแรม ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว โดยอาจจะการเลือกให้ใช้บริการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดที่เป็นการลงทุนจากชาวจีน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้ประกอบการทัวร์จีนบางราย ก็ยังมีการเลือกใช้บริการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทยบ้าง (เช่น ธุรกิจโรงแรมระดับ 5 ดาว ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ประกอบการไทยและธุรกิจทัวร์จีนที่เป็นพันธมิตรกัน ฉะนั้น ก็ยังพอสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า ผู้ประกอบการไทยยังคงได้มีส่วนแบ่งในตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนเที่ยวไทย
จับตาโค้งสุดท้าย... คาดจีนเที่ยวไทยช่วงไตรมาส 4 ปี’58 ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคนศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีนเป็นอีกช่วงเวลาที่ชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีความได้เปรียบเรื่องความคุ้มค่าเงินที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายระดับ และเมื่อประกอบกับการทำการตลาดอย่างเข้มข้นของทุกภาคส่วนของไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวจีนในเมืองเศรษฐกิจหลัก
และรอง รวมถึงตลาดเฉพาะกลุ่ม (เช่น ตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ตลาดจัดงานแต่งงาน ตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น) โดยน่าจะช่วยหนุนให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 มีชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1.80 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่เติบโตถึงร้อยละ 69.8 โดยการขยายตัวที่สูงในปีที่แล้วนั้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม
วีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนปี 2557อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะปัจจัยภายในของจีน คือ ภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งคงมีผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับชาวจีนที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มที่มีแผนเดินทางมาไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
ขณะที่มองไปข้างหน้า การหันมาทำตลาดนักท่องเที่ยวศักยภาพที่มีการใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป น่าจะช่วยทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันได้ โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนระดับบน (ไฮเอนด์) ซึ่งจากการสำรวจของ International Luxury Travel Market Asia (ILTM Asia) พบว่ามีการใช้จ่ายในปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอยู่ที่ประมาณ 3,200-8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อทริป
จึงเป็นตลาดศักยภาพที่มีความน่าสนใจและควรเร่งส่งเสริมจากที่ในปัจจุบันไทยมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดชาวจีนระดับบนที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยในปี 2558 นี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.8 แสนคน ซึ่งมีแนวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของตลาดกลุ่มนี้เน้นการเดินทางเพื่อผักผ่อน ซึ่งทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของไทยสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตลาดกลุ่มนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามเฉพาะตัวของหมู่เกาะต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวทางทะเลที่เป็นกิจกรรมยอดนิยมของตลาดกลุ่มนี้ที่ชื่นชอบการเดินเล่นตามชายหาด กีฬาทางน้ำ (เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ การล่องเรือชมทัศนียภาพ เป็นต้น)
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมช้อปปิ้ง โดยเฉพาะการเลือกซื้อของฝากของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การรับประทานอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพสามารถรองรับตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะการจับตลาดตรวจสุขภาพที่ชาวจีนระดับบนค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและการควบคุมอาหาร อย่างไรก็ตาม การจับตลาดระดับบนนี้ควรจะต้องเลือกช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยอาจจะเป็นการให้สิทธิพิเศษลูกค้าระดับไฮเอนด์มาใช้บริการ เพื่อก่อให้เกิดการบอกเล่าประสบการณ์ต่อไปยังกับครอบครัวและกลุ่มเพื่อนที่เป็นตลาดจีนระดับบนด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ควรทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออื่นๆ ควบคู่กัน ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ (นิตยสารท่องเที่ยว) รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่นับวันมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร เช่น Wechat และ Twitter เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย