อุตสาหกรรม การพิมพ์ทรุดตัว หลังธุรกิจกลางเล็กรัดเข็มขัด
วันที่ 8 ต.ค.58 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน และประธานคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภา อุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดคำสั่งพิมพ์ปฏิทิน สมุดจดบันทึก(ไดอารี่) บัตรอวยพรส่งความสุขหรือ ส.ค.ส. เพื่อที่จะส่งมอบเป็นของขวัญเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (พ.ศ.2559) ค่อนข้างชะลอตัว และมาช้ากว่าปกติทุกปีโดยเฉพาะคำสั่งพิมพ์จากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น มีอัตราการลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เนื่องจากภาคธุรกิจตัดลดงบประมาณส่วนนี้ลงเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
"ปกติคำสั่งซื้อจะทยอยเข้ามาช่วงกลาง ก.ย.ของทุกปีแต่ปีนี้มาค่อนข้างล่าช้า โดยคำสั่งซื้อเพิ่งจะมีทยอยมาช่วง ต.ค.และมีมาค่อนข้างน้อยเฉลี่ย 30-40% หากเทียบกับทุกปีจะมีมากกว่า 60% แล้วและที่เข้ามาหลักๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยบางบริษัทที่สั่งพิมพ์บางส่วนจะมองในเรื่องของการกระตุ้นตลาดไปด้วย แต่ส่วนรายกลางและเล็กยอดสั่งพิมพ์น้อยมากขณะนี้" นายเกรียงไกร กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของบัตรอวยพรตามเทศกาลต่างๆ ทั้งวันเกิด และรวมถึง ส.ค.ส.ปีใหม่นั้น ได้ลดลงต่อเนื่องมาช่วง 5-6 ปีแล้วมากกว่า 70% เนื่องจากถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความสะดวกทั้งบัตรอวยพรในรูปแบบอิเล็กทรอนิค( E-Card ) ซึ่งในปัจจุบันมีเว็บไซต์เป็นจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ให้บริการส่ง e-card ในวาระหรือเทศกาลต่าง ๆ ที่แสนสะดวกสบาย ซึ่งมีทั้งแบบที่เสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการส่งข้อความผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ข้อความผ่านมือถือ เฟสบุ๊ค ไลน์ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปี 2558 ภาพรวมคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงประมาณ 5- 10% จากปี 2557 เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวรวมถึงการส่งออกของไทยที่แนวโน้มปีนี้จะติดลบกว่า 5% จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยโดยเฉพาะตลาดหลักๆ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การที่ไทยจะเริ่มเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คาดว่าตลาดอาเซียนจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับอานิสงค์การส่งออกที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 ซึ่งจะสามารถชดเชยตลาดหลักๆ ที่อาจจะยังไม่สามารถกลับมาพลิกฟื้นการเติบโตได้เร็วนัก
" อุตสาหกรรม สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่จะอิงกับการส่งออกถึง 60% โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เมื่อการส่งออกลดต่ำก็จะส่งผลกระทบโดยตรงตามไปด้วย โดยที่ผ่านมามีการตั้งเป้าหมายการส่งออกอุตสาหกรรมนี้ไว้ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท ก็คงไม่ถึงเป้าหมาย" นายเกรียงไกร กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : แนวหน้า