ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในการประชุม FOMC วันที่ 27-28 ต.ค. 2558 ธนาคารกลางสหรัฐฯ เฟด ยังคงมีมติ ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบร้อยละ 0.00-0.25 ตามที่ตลาดคาด และจะดำเนินนโยบายเดิมต่อไปในการนำเงินต้นที่ได้รับจากการครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ (Agency debts) หลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของ Agency (Agency MBS) และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาลงทุนใหม่ เพื่อช่วยให้สถานการณ์ทางการเงินอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีหลายจุดสังเกตในแถลงการณ์หลังการประชุม FOMC ที่ถูกปรับเปลี่ยนในรอบนี้ ซึ่งอาจสะท้อนว่า เฟดกำลังเตรียมที่จะเปิดทางให้มีการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุม FOMC รอบวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้ เป็นอย่างเร็ว

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ - เฟด ได้มีการปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงหลังการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 27-28 ต.ค. 2558 อีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้การประชุม FOMC รอบถัดไปช่วงกลางเดือนธ.ค. 2558 เป็นรอบที่มีความสำคัญ และอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กลับสู่ระดับปกติ (Policy Normalization) โดยเฟดได้ตัดถ้อยคำที่เคยสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับความปั่นป่วนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก (ที่อาจส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ) ออกไป และเพิ่มถ้อยคำที่บ่งชี้ถึงท่าทีของเฟดที่ต้องการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในช่วงร้อยละ 0.0-0.25 ต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2551 (ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่นานที่สุดเมื่อเทียบกับวัฏจักรการลดดอกเบี้ยหลายๆ รอบที่ผ่านมา)
  • เฟดระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมรอบนี้ ว่าจะมีวาระการพิจารณาโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุม FOMCรอบถัดไปในเดือนธ.ค. 2558 (ซึ่งจะเป็นรอบที่มีการแถลงข่าว หรือ Press Conference และมีการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจ และ Dot-plot ชุดใหม่) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แถลงการณ์ดังกล่าว สะท้อนการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีความชัดเจนมากกว่าในหลายรอบการประชุม FOMC ที่ผ่านมา แม้ว่า เฟดจะยังคงสื่อความกับนักลงทุนและตลาดการเงินว่า การตัดสินใจทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับข้อมูลตลาดแรงงาน เครื่องชี้แรงกดดันเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ และสถานการณ์เศรษฐกิจ-ตลาดการเงินโลกในระยะข้างหน้าก็ตาม
  • ตลาดการเงินโลกตอบรับถ้อยแถลงที่แฝงสัญญาณคุมเข้มของเฟดอย่างเป็นระเบียบ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นแตะ 97.818 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง (สวนทางเงินยูโร และเงินเยนที่อ่อนค่าลง) เช่นเดียวกับตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า ที่ปรับเพิ่มโอกาสของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. 2558 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 จากที่เคยสะท้อนความเป็นไปได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ส่วนตลาดการเงินไทยก็เคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดต่างประเทศ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 35.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวใกล้ๆ ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยก็เผชิญแรงขายท่ามกลางการลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนรับผลการประชุมเฟดในรอบนี้

แนวโน้มการประชุมนัดสุดท้ายของ FOMC ในปีนี้ แม้เฟดเลือกที่จะรอประเมินโมเมนตัมการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงประมาณ 1 เดือนครึ่งหลังจากนี้ แต่ ณ ขณะนี้ ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า เฟดต้องการที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ภายในปีนี้ (เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบกว่า 11 ปี)

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือจากทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากการประชุมเฟดนัดหน้า ก็คือ เฟดน่าจะส่งสัญญาณอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า และจะยังคงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นช่วง หรือ range ไปอีกระยะ (จะยังไม่กลับมากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นค่าเดียว) เพื่อให้มีความยืดหยุ่นการดูแลสภาวะตลาดเงิน ในช่วงที่เฟดทยอยเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย/ปรับสมดุลนโยบายการเงินให้เป็นปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ภายในปีนี้ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากข้อมูลเศรษฐกิจและเครื่องชี้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพการฟื้น รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางชั้นนำอื่นๆ (อาทิ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น) ที่ยังมีสัญญาณผ่อนคลายตัวอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า (และอาจจะเข้าทดสอบระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง) ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็อาจทยอยปรับตัวขึ้น ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่น่าจะมีความผันผวนมากขึ้นเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย